เข้าใจภัยธรรมชาติ

0012ก็ไม่รู้จะเป็นเรื่องที่ทำให้คนฟังต้องกลุ้มใจหรือเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจะบอกว่าหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบก่อสร้างอาคารในบ้านเรา เท่าที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่ามีการบรรจุวิชาความรู้เกี่ยวกับการออกแบบอาคารเพื่อป้องกันหรือรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ คนจำนวนมากในยุคของเราจึงเห็นว่าภัยจากแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ น้ำท่วมครั้งใหญ่ หรือโคลนถล่มเป็นภัยชนิดใหม่ที่คุกคามวิถีอันสงบสุขของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทย เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร เพราะไม่คุ้นเคย ไม่เคยมีประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องแผ่นดินไหวในเมืองไทยเอาไว้ให้เราศึกษาในวิชาภูมิศาสตร์ จึงไม่มีภัยจากแผ่นดินไหวหรือน้ำท่วมจนเมืองหายไปได้ทั้งเมืองมาเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องหาวิธีป้องกันหรือ risk factor ในวิชาออกแบบก่อสร้างอาคารของไทยอย่างเป็นรูปธรรม

คนส่วนใหญ่เรียนประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองเฉพาะในเชิงการเมืองการปกครอง แต่เมื่อมองถึงประวัติศาสตร์ในด้านภูมิศาสตร์ หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา หรือพูดตรงๆก็คือประวัติศาสตร์ของภัยพิบัติทางธรรมชาติกลับไม่มีบันทึกไว้อย่างชัดแจ้ง ที่มีปรากฏในพงศาวดารบ้าง ก็เพียงแค่เป็นปรากฏการณ์เชิงสัญลักษณ์ของความล่มสลายของอาณาจักรหรืออารยธรรมโบราณในแต่ละยุคสมัย บ้างก็บันทึกไว้ในรูปแบบของตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน บ้างก็ถูกแปรว่าเป็นลางร้ายของแผ่นดิน เช่น ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ทรงเสด็จจากอยุธยาเพื่อไปครองอาณาจักรสุโขทัย พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า พอท่านทรงกระทืบพระบาทลงบนแผ่นดินสุโขทัย ก็เกิดแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ในพระราชพงศาวดารฉบับนั้นไม่ได้อธิบายความหรือบอกเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์นี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่เกิดในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้นก็คือถึงกาลล่มสลายของอาณาจักรสุโขทัย มาสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองของอยุธยา ผู้คนรุ่นหลังที่ช่างคิดช่างค้นจึงอดตีความไม่ได้ว่า นั่นคือการบันทึกภัยพิบัติแผ่นดินไหวในยุคต้นๆของประวัติศาสตร์ไทย

หรือเหตุลางแผ่นดินไหวสั่นสะเทือนทั่วราชธานีก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 ที่พราหมณ์บันทึกไว้ว่า เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนั้น เกิดจากเทวรูปพระนเรศวรในพระบรมมหาราชวังทรงกระทืบบาท ซึ่งจะเท็จจริงประการใดไม่มีใครทราบ แต่อาณาจักรอยุธยาก็ได้ถึงกาลวิบัติลง ณ เวลาต่อมา จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าเหตุแผ่นดินไหวส่งผลให้เมืองในอดีตบางเมืองถึงกับล่มสลาย?

ใครที่คิดว่าเมืองไทยนั้นร่มเย็นเป็นสุข ปลอดภัยจากภูเขาไฟระเบิดแบบอินโดนีเซีย น้ำท่วมดินถล่มแบบจีน-อเมริกา หรือแผ่นดินไหวแบบญี่ปุ่น ถ้าลองพิจารณาประวัติศาสตร์ภัยพิบัติทางธรรมชาติผ่านการตีความพงศาวดารอย่างถี่ถ้วนอาจจะต้องคิดใหม่ เพราะได้ปรากฏอยู่เสมอว่า มีอาณาจักรหรือศูนย์กลางอารยธรรมในยุคโบราณของภูมิภาคนี้จำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นเมืองร้าง ล่มสลาย หรือจมหายไปใต้บาดาล อย่างเมืองที่ล่มไปในแม่น้ำซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังคงเถียงกันไม่เสร็จว่าเป็นนครในตำนาน หรือเป็นเมืองเก่า ก็เช่น นาคพันธ์โยนกนคร ที่เมืองเชียงราย ซึ่ง(อาจจะ)เป็นนครที่จมหายไปเพราะการเปลี่ยนทิศทางของแม่น้ำโขง เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในตำนานสิงหนวัติกุมารเล่าว่า มีลางบอกเหตุมาตลอดว่าเมืองนาคพันธ์โยนกนคร ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงนั้นจะถูกกระแสน้ำกัดเซาะแผ่นดินพังจนถึงขั้นจมหายไปกับสายน้ำ แต่ผู้คนในเมืองก็ไม่ได้ตระหนักถึงความจริงอันร้ายแรงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติดังกล่าว ไม่ได้มีการป้องกัน เฝ้าระวัง หรือเตรียมการแก้ปัญหาใดๆ จนกระทั่งเกิดภัยพิบัติขึ้นอย่างหนักหน่วงถึงขั้นประวัติศาสตร์สูญหาย ซึ่งเรื่องราวของนครใต้บาดาลแห่งนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์มาตลอดว่าจริงหรือไม่จริง ตราบจนถึงวันหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้เอง มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีส่วนหนึ่งของนครใต้บาดาลดังกล่าว เป็นรัศมีของพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 5 คนโอบ ชื่อว่าพระเจ้าล้านตื้อ เป็นศิลปะเชียงแสน จมอยู่ใต้ก้นแม่น้ำโขง และนำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงราย

อาณาจักรโบราณที่ประสบภัยพิบัติจนล่มสลายเช่นเดียวกันนี้ โดยประวัติศาสตร์มีการจารึกไว้และเป็นที่รู้จักกว้างขวางก็คือเวียงกุมกาม ซึ่งจมหายไปกับสายแม่น้ำปิงที่เปลี่ยนทิศทาง เหตุผลที่อาณาจักรไทยในยุคโบราณมักจะหายไปกับสายน้ำได้ง่ายๆ น่าจะเป็นเพราะเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ใช้อิฐดิบเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างหลัก ซึ่งอิฐดิบหรืออิฐที่ไม่ได้เผาไฟก่อนนำไปก่อสร้าง (ใช้เผาทีหลังก่อรูปอาคารแล้ว) จะไม่ค่อยคงทนถาวร ถ้าโดนน้ำท่วมหรือแช่น้ำไว้นานๆก็อาจละลายกลายเป็นโคลน จึงไม่น่าแปลกใจที่ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยอิฐจะพลอยละลายหายไปด้วย ประกอบกับความเชื่อในระบอบเทวราช (ที่วิวัฒนาการมาเป็นระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชในรัชกาลที่5) ประชาชนจะเชื่อว่าชนชั้นกษัตริย์หรือชนชั้นปกครองเป็นเชื้อสายของเทพเจ้าหรือเป็นพระเจ้ากลับชาติมาเกิด การได้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินใต้พระบรมโพธิสมภารของพระเจ้าแผ่นดินที่ครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ย่อมจะปลอดจากเภทภัยต่างๆในทุกกรณี ระบอบเทวราชปลูกฝังให้คนไทยเชื่อมั่นว่า ชนชั้นปกครองที่สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าหรือพระเจ้า ย่อมจะมีอำนาจบารมีควบคุมธรรมชาติให้เป็นไปในทิศทางที่ดีได้ ยกตัวอย่างคำกล่าวที่แสดงถึงผู้มีบารมีเหนือธรรมชาติ เช่น ‘ช้างเหยียบนา พระยาเหยียบเมือง’ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อว่าผู้มีบุญหรือชนชั้นปกครองจะนำความเป็นปกติสุขและความอุดมสมบูรณ์มาให้

มุมมองต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยเฉพาะภัยพิบัติร้ายแรงทางธรรมชาติจึงเป็นเรื่องไกลตัว และความคิดชนิดนี้ก็ได้ฝังอยู่ในระบบการรับรู้ของคนไทย แม้ว่าการศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์จะพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน การพัฒนาความรู้ของผู้คนในวงกว้างต่อเรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่คืบหน้านัก การศึกษาด้านสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง การก่อสร้างอาคาร ที่ลอกหลักสูตรมาจากฝรั่งให้คนไทยเรียนก็ไม่ได้หยั่งลึกลงมาหารากเหง้าใดๆของท้องถิ่น หรือในเชิงประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง คนไทยในยุคของเราจึงอาจได้โชคดี มีสิทธิ์ทำเก๋แบบชาวต่างชาติ เช่น ได้เหมือนคนญี่ปุ่นคือต้องวิ่งหนีแผ่นดินไหว ซึ่งก็ไม่รู้จะหนีไปที่ไหน หรืออาจจะโดนน้ำท่วมโคลนถล่มแบบฝรั่งที่อเมริกา อาจโดนสึนามิ (อีก) แบบฮาวาย แต่รอบนี้ประวัติศาสตร์อาจจะไม่หายไปเหมือนเมืองบาดาลสมัยก่อน เพราะมีคนหัวใส เอาข้อมูลมนุษยชาติไปฝากไว้กับตู้เซฟในอวกาศล่วงหน้าแล้ว ประเทศเล็กๆบางประเทศอาจจะหายไปจากแผนที่โลก แต่โชคดี (จัง) ที่ประวัติศาสตร์ของเรายังอยู่?

เรื่องนี้พูดแล้วก็ปวดใจ แต่เมื่อเปิดปากแล้ว คงต้องคุยกันอีกยาว (โปรดติดตามตอนต่อไป)

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

ขอขอบคุณ สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ สำหรับข้อมูลอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...