เข้าใจภัยธรรมชาติ (ตอนที่2)

ดังที่ได้เกริ่นไปในตอนแรกแล้วว่า การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงในบ้านเมืองของเราไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากแผ่นดิน ภัยจากน้ำ หรือภัยจากฟ้า ถ้าใครที่ชอบอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร น่าจะคุ้นเคยกับหลายตอนที่พูดถึงเหตุการณ์ฟ้าผ่ารุนแรงในยอดอาคารสำคัญๆ เช่น พระบรมมหาราชวัง วิหาร เจดีย์ต่างๆ เหตุการณ์ฟ้าผ่ามักถูกบันทึกไว้ในฐานะสัญลักษณ์หรือลางบอกเหตุร้ายที่จะเกิดกับแผ่นดินหรือผู้ปกครอง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟ้าผ่าก็คือ สถาปัตยกรรมสำคัญของแผ่นดินในสมัยโบราณ ซึ่งหมายถึงสิ่งก่อสร้างของชนชั้นปกครอง มักนิยมใช้ดีบุกดาดบนหลังคาเพื่อความงาม เพราะดีบุกเป็นโลหะที่ให้ผิวสัมผัสมันวาวแลดูมีค่าคล้ายทองคำ ซึ่งดีบุกนี้ถือเป็นสินค้าต้องห้ามสำหรับสามัญชนในสมัยอยุธยา มีเพียงผู้ปกครองเท่านั้นที่มีสิทธิ์ครอบครองเป็นเจ้าของแร่ดีบุก ถือว่าเป็นโลหะมีค่า เมื่อยอดปราสาทราชวังถูกฟ้าผ่า ดีบุกถูกความร้อนก็จะหลอมเหลวไหลลงมา หรือเมื่อครั้งที่พม่าเข้ามาเผากรุงศรีอยุธยา ก็มีเกร็ดเล่าว่าดีบุกที่ดาดไว้บนยอดหลังคานั้นไหลลงมามากมาย พอพม่าจากไปแล้ว คนไทยบางพวกที่รู้เรื่องนี้ก็ดอดเข้ามาแกะดีบุกไปขายให้ฝรั่ง ดีบุกเป็นตัวนำไฟฟ้าจึงอาจเป็นเหตุผลให้เกิดฟ้าผ่าฟ้าแลบเหนือยอดปราสาทต่างๆอยู่บ่อยครั้ง

เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ๆ มักถูกบันทึกเป็นตำนานผนวกไว้กับการสิ้นสุดยุคสมัยของอาณาจักร หรือการสิ้นสุดของราชวงศ์ผู้ปกครอง ซึ่งอำนาจการปกครองจะมีการเปลี่ยนมือพร้อมๆ กับการเปลี่ยนย้ายทำเลที่ตั้งของศูนย์กลางอาณาจักรหรือเมืองหลวง โดยเหตุผลในการโยกย้ายเมืองเหล่านั้นก็จะถูกสื่อสารออกมาในรูปของนิมิตต่างๆ ทำให้เกิดเหตุ ‘เมืองล่ม’ หรือ ‘เมืองหาย’ หรือกลายเป็น ‘เมืองร้าง’

ตำนานที่บอกเล่าถึงความล่มสลายของอารยธรรมโบราณจากภัยธรรมชาติประการหนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่ม ‘เมืองหาย’ ที่ถูกเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นตำนานร่วมของท้องถิ่น เช่น ตำนานผาแดงนางไอ่ (ที่อาจจะมีฉากหรือชื่อตัวละครต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น แต่เค้าโครงของเรื่องที่เล่านั้นคล้ายคลึงกัน) ในจังหวัดภาคอีสานของไทยมักมีเรื่องทำนองว่า มีผู้คนในหมู่บ้านไปจับลูกของตัวประหลาดมากินเป็นอาหาร ตัวประหลาดนั้นมีขนาดใหญ่พอที่จะกินกันได้ทั้งหมู่บ้าน เมื่อกินเสร็จจึงได้รู้ว่าตัวที่กินนั้นเป็นลูกของพญานาค พญานาคก็โกรธเคือง ออกมาปรากฏตัวแสดงอิทธิฤทธิ์สาปให้เมืองนั้นล่มสลายด้วยเหตุแผ่นดินยุบตัวลงอย่างฉับพลัน บ้านเรือนพังพินาศผู้คนล้มตายหมด ที่ตั้งของเมืองเดิมยุบลงกลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่ เมื่อมีน้ำท่วมไหลเข้ามาก็กลายเป็นบึงน้ำ ซึ่งมีมากมายอยู่ในภาคอีสาน ฟังดูเข้ากันดีกับตำนาน ส่วนบริเวณที่ดอนหรือเรียกว่าโคก ก็จะมีตำนานให้เหตุผลว่า เป็นพื้นที่บ้านเรือนของคนที่ไม่ได้กินเนื้อสัตว์ประหลาดนั้นเข้าไป จึงได้รับการยกเว้นชีวิต

นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับผลงานจากธรรมชาติที่นำโรคภัยไข้เจ็บประหลาดๆ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงถึงชีวิตมาทำให้คนตายกันเกลื่อนเมือง จนคนที่เหลือต้องย้ายหนีไปหมด กลายเป็นเมืองร้าง เช่น ตำนานของอาณาจักรศรีเทพ (เพชรบูรณ์) มีหลักฐานปรากฏว่าอาณาจักรนี้มีความเจริญทางอารยธรรมสูงมาตั้งแต่ยุคสำริดยาวนานมาจนถึงทวารวดี สังเกตได้จากการหล่อพระพุทธรูปโลหะขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่า เทคโนโลยีการถลุงโลหะหรือหล่อโลหะนั้นเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในสมัยโบราณ การที่จะสามารถหล่อพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ได้นั้นแสดงว่าอาณาจักรต้องมีความเจริญทางอารยธรรมสูง (ซึ่งปัจจุบันพระพุทธรูปซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ปารีส)

อารยธรรมที่กำลังเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรศรีเทพนี้อยู่ดีๆ ก็เกิดหยุดชะงัก จากเมืองใหญ่ที่มีผู้คนมากมาย จู่ๆก็ไร้ผู้คนเกิดกลายเป็นอาณาจักรร้างโดยปราศจากคำอธิบาย มีเพียงตำนานเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้น ย่านเมืองศรีเทพนี้มีฤาษีผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อยู่ 2 ตน คือฤาษีตาวัวกับฤาษีตาไฟ ฤาษีตาไฟมีของดีคือบ่อน้ำที่สามารถทำให้คนเป็นก็ได้ ทำให้คนตายก็ได้ และหนึ่งในศิษย์ของฤาษีตาไฟก็คือลูกเจ้าเมืองศรีเทพ วันดีคืนดี อาจารย์ฤาษีตาไฟเกิดอยากลองวิชาชุบตัวเป็นตัวตายอวดลูกศิษย์ จึงเริ่มต้นด้วยการชุบตัวเองให้ตายก่อน โดยหวังใจว่า ลูกศิษย์คนโปรดคือลูกเจ้าเมืองคงจะเอาซากของอาจารย์ไปชุบชีวิตให้ฟื้นขึ้นมาในอีกบ่อหนึ่ง แต่ลูกศิษย์กลับไม่ได้ทำตามคำสั่งปล่อยให้อาจารย์ตายแหงแก๋แล้ววิ่งหนีจู๊ดกลับเมืองไปเฉยเลย เมื่อฤาษีตาวัวมาพบซากของฤาษีตาไฟก็เข้าใจเรื่องลางๆ จึงชุบชีวิตเพื่อนเกลอขึ้นมา ฤาษีตาไฟพอฟื้นขึ้นแล้วก็แปลงร่างเป็นวัวเข้าไปในเมืองศรีเทพ รายละเอียดที่วัวบุกเมืองนั้นมีเกร็ดสนุกสนานพิสดาร แต่ขอเล่าย่อๆว่า เมื่อวัวเข้าไปในเมืองศรีเทพได้ ก็ดันตายลงปุบปับ ท้องแตกโป๊ะ มีเชื้อโรคร้ายไหลทะลักออกมาจากท้องวัว (คล้ายๆกับเรื่องเมืองทรอยตอนที่ทหารซ่อนตัวในม้าโทรจัน ซึ่งก็เป็นเหตุแห่งความวิบัติของเมืองเช่นกัน) เกิดเป็นโรคระบาดคร่าชีวิตชาวเมืองศรีเทพตายเกลี้ยง อาณาจักรยิ่งใหญ่ที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นเป็นเมืองร้างในชั่วข้ามคืน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุภัยพิบัติร้ายแรงขนาดที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของเมืองหยุดชะงักนั้น ล้วนแต่เป็นเหตุที่เกิดรวดเร็วและเฉียบพลันทั้งสิ้น

เกร็ดพงศาวดารที่ฝอยร่ายยาวให้ฟังเพลินๆ ถึงสองตอนนี้ อาจดูโบราณไม่ค่อยเก๋ไก๋ ไม่เข้ากับคอลัมน์และดูเหมือนไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน รวมถึงปัจจัยการเกิดและดับของเมืองในปัจจุบัน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดหากนำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติหลายอย่างที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ เรื่อยไปจนถึงระดับโลก ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม และน่าจะเป็นปัจจัยที่พึงพิจารณาในการออกแบบก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพื่อให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหรือเหตุภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น ภาพคนกระโดดโลดเต้นเริงร่าที่เราเห็นในโฆษณาทีวีเมื่อตึกโดนแผ่นดินไหว อาจจะเป็นเรื่องจริงได้ในอนาคต แต่ถ้าเหตุการณ์แบบในทีวีเกิดขึ้นจริงในวันนี้หรืออีกห้าปีสิบปีข้างหน้า คงไม่มีใครหัวเราะหรือยิ้มได้แน่ๆนอกจากท่านยมบาล เพราะยังไม่มีตึกไหนในประเทศนี้ที่ออกแบบมารับแผ่นดินไหวจริงๆ เลยสักตึกเดียว (โปรดติดตามตอนต่อไป)

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

ขอขอบคุณ สิรวีย์ เอี่ยมสุดใจ สำหรับข้อมูลอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...