ความนิยมในของเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มีมาช้านานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น รถยนต์ การตกแต่ง งานศิลปะ เหล้าไวน์ หรือแม้แต่ของใช้หรือาวุธโบราณก็มีคนนิยมสะสมกัน แต่ต้องยอมรับว่า ยุคนี้สมัยนี้ คำว่า วินเทจ (Vintage) นั้นกำลังได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางมากกว่ายุคไหนๆ ที่ผ่านมา ทั้งที่หลายคนยังไม่รู้ชัดด้วยซ้ำว่า วินเทจ มีความหมายแท้จริงอย่างไร ข้าวของเก่าทั้งหลายต้องมีอายุสักแค่ไหนกันจึงจะเข้าข่ายวินเทจ หรือคำว่า วินเทจ กับแอนทีค และเรโทร ต่างกันยังไง บางคนไม่รู้ก็เข้าใจผิดไปว่าเป็นของเก่าด้วยกันทั้งหมด เรียกตีขลุมมั่วๆมึนๆไปก็เห็นบ่อย ในขณะที่บางคนเข้าใจผิดว่า สินค้ามือสอง คือสินค้าวินเทจ ซึ่งก็ไม่ใช่เสมอไป สินค้าวินเทจบางอย่างอาจเป็นของมือสอง แต่ไม่ได้หมายความว่า สินค้ามือสองจะต้องเป็นวินเทจ…เอาละสิ ชักงงแล้วใช่ไหม
ถ้าพูดกันตามหลักการของนักสะสม หรือคนที่อยู่ในแวดวงศิลปวัฒนธรรม คำว่า วินเทจ หมายถึงของที่มีอายุย้อนไปจากปัจจุบันมากกว่า 20 ปี แต่ไม่เก่าไปถึงปี 1920 อย่างถ้านับจากตอนนี้คือปี 2013 ของวินเทจก็หมายถึงข้าวของในระหว่างปี 1921-1996 ถ้าเก่าเกินกว่านั้นเขาเรียก แอนทีค หรือ วัตถุโบราณ ทั้งนี้ ของวินเทจไม่จำเป็นต้องมีสภาพเก่าหรือผ่านการใช้งานมาแล้ว ของใหม่ค้างสต๊อกนาน 20-30 ปีที่ยังไม่เคยถูกแกะกล่องมาก่อน เป็นของมือหนึ่งแท้ๆ ก็ถือเป็นของวินเทจเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่า ปลากระป๋องที่ค้างสต๊อกมาสามสิบปีถือเป็นวินเทจหรือไม่…ก็ตอบยาก ตัวบรรจุภัณฑ์แน่นอนว่าเป็นวินเทจ แต่ของที่อยู่ข้างในอาจเปลี่ยนสภาพเป็นสารพิษไปแล้ว ดังนั้น ของวินเทจจึงไม่ค่อยรวมของกิน ยกเว้นอาหารหรือเครื่องดื่มบางจำพวกที่เน้นการบ่มหมักเป็นเวลานานๆ โดยนอกจากจะไม่เสียคุณภาพแล้วยังเพิ่มรสชาติ เช่น เหล้าหรือไวน์บางชนิด ยิ่งบ่มนานยิ่งมีราคาแพง
ส่วนคำว่า เรโทร ที่เข้าใจผิดกันเยอะว่าหมายถึงของเก่าเหมือนกัน ความจริงไม่ใช่ เพราะคำว่า Retro นี้มาจากการย่อสั้นของศัพท์คำว่า Retrospective ซึ่งแปลว่า ย้อนยุค หมายถึงของที่ทำขึ้นใหม่แต่ได้แรงบันดาลใจหรือรูปแบบมาจากดีไซน์ดั้งเดิม หรือได้แบบมาจากของวินเทจ ดังนั้น เรโทร จึงไม่ใช่ของเก่า เพราะไม่โบราณ ไม่วินเทจ แม้ว่าข้าวของที่เป็น แอนทีค วินเทจ และเรโทร เมื่อนำมาจัดแต่งเข้าด้วยกัน ดูเผินๆ อาจจะเข้ากันได้ (สำหรับคนที่ไม่รู้เรื่อง) แต่โดยคอนเซ็ปต์ลึกๆแล้ว ไม่จัดเป็นพวกเดียวกัน ส่วนใครจะชอบไม่ชอบก็ตามแต่รสนิยม จะใช้อย่างไรก็ไม่ผิด ตำรวจไม่จับ แต่อาจดูประดักประเดิด หัวมงกุฎท้ายมังกร อาจจะโดนคนรู้มากสอดสายตาหาเรื่องมาคอยติบ่นว่าดูกากๆ อันนั้นก็ตัวใครตัวมัน
การตกแต่งบ้านด้วยสไตล์วินเทจ อาจทำได้ตั้งแต่การจำลองรูปแบบการออกแบบพื้นที่ใช้สอยที่เป็นสไตล์การออกแบบในยุคเก่ามาใช้ ร่วมกับการสรรหาข้าวของวินเทจมาประดับตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ ตู้เตียง เก้าอี้ โซฟา เคาน์เตอร์ แจกัน โคมไฟ ฯลฯ รวมไปถึงการเลือกสีสันลวดลายผ้าม่าน วอลเปเปอร์ หรือสีทาบ้าน ในที่นี้ ส่วนประกอบที่อนุโลมให้ใช้ของเรโทรเข้ามาเสริมได้บ้างเพราะหาของเก่าจริงได้ยาก ก็เช่น วอลเปเปอร์ พรม ซึ่งเป็นของที่ไม่สามารถยืนหยัดผ่านกาลเวลามาจากอดีตถึงปัจจุบันได้มากนัก จึงต้องมีการผลิตขึ้นใหม่ด้วยดีไซน์แบบเดิม
ความสนุกของการแต่งบ้านสไตล์วินเทจคือ เราสามารถนำเอาข้าวของที่มีดีไซน์ต่างสมัยมาผสมผสานเข้ากันได้อย่างหลากหลายโดยไม่น่าเกลียด ตราบเท่าที่อายุของสิ่งเหล่านั้นถูกนับว่าอยู่ในช่วงวินเทจด้วยกัน เพราะเมื่อจัดวางร่วมกันแล้ว จะยังคงมีลักษณะร่วมบางอย่างที่ทำให้ทุกองค์ประกอบยังคงเข้ากันได้อย่างน่าประหลาดใจ เช่น เก้าอี้ที่ออกแบบในยุคโมเดิร์นจากอเมริกา อาจเข้ากันได้กับนาฬิกาแขวนผนังสไตล์จีนในยุคไล่เลี่ยกัน และโคมไฟวินเทจจากฝรั่งเศส
เสน่ห์ของการแต่งบ้านด้วยของวินเทจคือ สินค้าหรือข้าวของที่ยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้นั้น มักเป็นข้าวของที่มีคุณค่าบางอย่างในตัวเอง ทำให้คนรุ่นต่อๆมาอยากเก็บสะสมเอาไว้ไม่ทิ้งหรือทำลาย เช่น มีลักษณะการออกแบบที่ดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ อาจผลิตด้วยวัสดุที่มีคุณภาพมาก หรือบางชิ้นก็มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้มีคุณค่าทางจิตใจ เมื่อผ่านมาถึงมือเราได้ จึงเป็นการรับประกันอย่างกลายๆว่า ของสิ่งนั้นน่าจะดีจริงหรือมีความงามที่อยู่เหนือกาลเวลา ทำให้เมื่อเรานำมาจัดแต่งสถานที่ ก็มักจะสวยด้วยตัวมันเอง อีกทั้งยังช่วยให้ห้องหรือสถานที่ที่เราตกแต่งดูน่าสนใจและมีเรื่องราวมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การตกแต่งสไตล์วินเทจที่ประกอบด้วยข้าวของต่างยุคต่างถิ่น ซึ่งเราอาจต้องไปสรรหามาจากหลายแหล่งไม่ได้ซื้อยกชุดเหมือนของใหม่ รวมถึงส่วนใหญ่อาจเป็นสินค้ามือสอง ทำให้เราสามารถจัดแต่งผสมผสานได้อย่างหลากหลายตามจินตนาการของเรา ไม่มีแบบแผนตายตัวหรือมีกฏเกณฑ์ของยุคสมัยมากำหนด ประกอบกับของเก่าที่มีร่องรอยการใช้งานในอดีตมาบ้าง ย่อมไม่เนี้ยบกริบ อาจมีตำหนิ หรือมีสีสันที่ซีดจางไปนิดหน่อย แต่แฝงไว้ด้วยเรื่องราวในอดีตที่สัมผัสกับผู้ใช้งานแต่ละคนในแง่มุมที่แตกต่างกัน รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกสบายๆ ไม่ต้องระวังตัวมากนัก มีความเป็นกันเองกับบรรยากาศ รู้สึกอบอุ่นผ่อนคลาย เหมือนได้อยู่ในสถานที่เก่าๆที่คุ้นเคยในวัยเด็ก หรืออาจเป็นภาพจำที่เคยคุ้นจากหนังหรือหนังสือที่เคยอ่านในอดีต ช่วยระบายสีสันความทรงจำในวันวานให้แจ่มใสขึ้นมาได้อีกครั้งในหัวใจ
การแต่งบ้านสไตล์วินเทจให้ออกมาสวยและสนุก คนแต่งบ้านต้องใจเย็น ทำใจให้เพลินกับการค่อยๆ หาข้าวของชิ้นโปรดมาประดับตกแต่งไปทีละนิดทีละหน่อย ได้อารมณ์เหมือนการตามหาเพื่อนแท้หรือเนื้อคู่ ซึ่งเมื่อตามหากันเจอก็จะให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจ และที่แน่ๆ…การช็อปของแต่งบ้านสไตล์วินเทจก็เป็นงานอดิเรกที่สนุกอย่าบอกใครเชียว เรื่องนี้ คนรักวินเทจต่างก็รู้กันดี จึงไม่มีใครยอมจัดบ้านให้เสร็จง่ายๆ เพราะความสุขที่แท้จริงนอกจากการได้อยู่ในบรรยากาศวินเทจแล้ว ก็คือการตามหาสิ่งของที่เป็นเนื้อคู่ซึ่งพลัดพรากกันไปตามวันเวลาให้กลับมาพบรักอีกครั้งในบ้านสวยของเรานั่นเอง
เรียบเรียง: วีร์วิศ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Supalai@Home
All Rights Reserved