อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อคนสูงวัยมีมูลค่าเติบโตรวดเร็ว ตอบรับโครงสร้างประชากรสูงวัยของไทยที่พุ่งสูง ในปัจจุบันจำนวนเกือบ 10 ล้านคน “STANDY” รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะที่ผู้ป่วยและผู้สูงวัยสามารถปรับยืน-นั่ง-นอนได้ด้วยตนเองครั้งแรกของไทย ผลงานไฮเทคของคณะวิศวลาดกระบัง ที่สนองตอบความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจ ช่วยให้ผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงวัยให้ปลอดภัยจากแผลกดทับเมื่อต้องนั่งหรือนอนนานๆ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวอิริยาบถได้ด้วยตนเองขยับขับเคลื่อนได้คล่องแคล่ว ทำภารกิจประจำวันได้ ลดภาระการพึ่งพาผู้อื่นลง ระบบไหลเวียนดีขึ้น สุขภาพกาย ใจและสังคมดีขึ้น สามารถเคลื่อนตัวไปสู่รถยนต์ได้ด้วย นับเป็นการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ช่วยลดการนำเข้า และทำให้คนไทยทั่วไปสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าทันสมัย มิใช่คนร่ำรวยเท่านั้น
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Asst.Prof.Dr.Komsan Maleesee) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจดิจิตอลและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ตลอดจนกระแสอารยสถาปัตย์หรือการออกแบบก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อทุกคนในสังคมซึ่งรวมทั้ง ผู้พิการและผู้สูงวัย โครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมประชากรสูงวัยเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเซีย รองจากประเทศญี่ปุ่น วิทยาการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นและมีแนวโน้มว่าเราก็จะมีผู้พิการจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ในประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางแขนขามีรวมกว่า 2 ล้านคน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรมาร่วมกันสร้างสรรค์อุปกรณ์ช่วยเหลือ ”สแตนดี้” (STANDY) รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบปรับยืน-นั่ง-นอนได้ครั้งแรกของไทย ช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม
รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ…ปรับยืน-นั่ง-นอนได้เป็นผลงานสร้างสรรค์ครั้งแรกของไทย โดย ดร.ดอน อิศรากร (Dr.Don Isarakorn), ผศ.ดร.นพดล มณีรัตน์ (Asst.Prof.Dr.Noppadol Maneerat), อาจารย์สองเมือง นันทขว้าง (Mr.Songmoung Nundrakwang) อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการวัดและควบคุม และ ดร.เกษมสุข เสพศิริสุข (Dr.Kasemsuk Setsirisuk) อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาเขตชุมพร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
ผศ.ดร.นพดล มณีรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พิการ และคนสูงวัยในประเทศไทยเกือบ 10 ล้านคนและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งประดิษฐ์ที่จะมารองรับผู้พิการและผู้สูงอายุนั้นกลับมีน้อยและราคาสูงมาก คนมีฐานะรายได้สูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสใช้ เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สำหรับวัตถุประสงค์หลักในการคิดค้น “สแตนดี้” (STANDY) รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบปรับยืน-นั่ง-นอนได้ 1.เพื่อให้ผู้พิการที่อยู่ในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพได้โดยมีโอกาสได้ใช้ในราคาประหยัด 2. เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น 3. ช่วยให้ผู้พิการ, ผู้ป่วยและผู้สูงอายุสามารถทำกายภาพหรือเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้มีสุขภาพและการไหลเวียนโลหิตที่ดีขึ้น ป้องกันแรงกดทับของกระดูกที่จะทำให้เกิดแผล เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงยิ่งขึ้นและ 4. เพื่อลดการพึ่งพาและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
“สแตนดี้” (STANDY) รถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ใช้ง่าย สามารถใช้งานได้ทั้งในบ้านและอาคาร โดยสามารถขับเคลื่อนเดินหน้า ถอยหลังได้ และที่สำคัญสามารถปรับรถให้สามารถยืน-นั่ง-นอนได้ด้วยตนเอง โดยหลักการทำงานจะใช้ระบบมอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อน ด้านขวามือของที่วางแขน จะมี จอยสติ๊กไว้สำหรับควบคุมการเดินหน้า ถอยหลังและจะมีแผงควบคุมสำหรับปรับให้รถวีลแชร์อัจฉริยะปรับเป็นท่านั่ง นอน หรือยืน โดยรถวีลแชร์อัจฉริยะสามารถปรับระดับขึ้นลงได้ 50-70 ซม.ซึ่งมีเข็มขัดรัดไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถปรับระดับให้สูงเท่าเตียงนอนได้ ผู้พิการจึงสามารถพลิกตัวจากเตียงนอนเพื่อขึ้นรถวีลแชร์ หรือพลิกตัวจากรถวีลแชร์เพื่อขึ้นเตียงนอนได้โดยไม่ต้องมีผู้ช่วยพยุง
ผศ.ดร.นพดล มณีรัตน์ กล่าวสรุปว่า ราคา ”สแตนดี้”(STANDY) อยู่ที่ 250,000-260,000 บาท และหากผลิตเป็นอุตสาหกรรมจะทำให้ราคาถูกลงไปอีก ซึ่งถ้าเรานำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก 600,000-1,200,000 บาท ขณะนี้ก็มีบริษัทเอกชนได้เข้ามาพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการนำงานนวัตกรรมรถวีลแชร์ไฟฟ้าอัจฉริยะชิ้นนี้ไปต่อยอดเพื่อผลิตในภาคอุตสาหกรรม สแตนดี้ที่พัฒนาขึ้นถือเป็นเวอร์ชั่นแรก ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 1 ปี สำหรับในอนาคตจะมีการพัฒนาในเรื่องของระบบความปลอดภัยสำหรับผู้พิการ ระบบป้องกันการชนแบบอัตโนมัติ การป้องการกันตกหลุม ระบบประมวลผลให้รถหยุดเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้พิการ รวมถึงการทำให้รถวีลแชร์สามารถขึ้นบันไดได้ด้วย
อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนเริ่มนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับดูแลการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถนำมาช่วยสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประเทศไทยนั้นเราสามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งการออกแบบโปรแกรมและโครงสร้างได้อย่างทัดเทียมนานาประเทศ สิ่งที่ขาดก็เพียงแต่ชิ้นส่วน อะไหล่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ ซึ่งหากรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ว่าจะทางด้านการลดภาษีการนำเข้าอุปกรณ์ให้ถูกลง หรือสนับสนุนวงการอิเล็กทรอนิกส์ของไทยให้พึ่งพาตัวเองได้ รัฐต้องสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยและอาเซียน
บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
ประภาพรรณ 081-899-3599, 086-341-6567, 02-911-3282 brainasiapr@hotmail.com