‘เล็บเอ๋ยเจ้าเล็บมือนาง เย็นค่ำบานสะพรั่งโชยกลิ่นหอม เหมือนมือนางเจ้าเคยดมดอม แต่วันนี้เจ้ามาจรจากลา’
ชื่อสามัญ: Rangoon Creeper, Chinese honey Suckle, Drunen sailor
ชื่อวิทยาศาสตร์: Combretum indicum (L.) DeFilipps
วงศ์: COMBRETACEAE
เย็นย่ำค่ำลงตามซุ้มหลังคาหรือริมรั้วบ้าน ‘เล็บมือนาง’ คือหนึ่งในไม้หอมชื่นใจที่ส่งกลิ่นหอมรวยรินไปถึงเช้าตรู่ของวันใหม่ คนที่หลงรักไม้ดอกหอมมักนิยมนำมาปลูกบริเวณบ้าน เพราะนอกจากกลิ่นหอมขจรขจายแล้วยังมีสีสันรูปทรงสวยงาม ออกดอกให้ชื่นชมตลอดทั้งปี
‘เล็บมือนาง’ มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเอเชียใต้ (อินเดีย-ศรีลังกา) จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ฯลฯ) และนับเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ลักษณะทั่วไปเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ขึ้นพาดพันไปตามต้นไม้ยืนต้นหรือเสา ตลอดจนซุ้มหลังคาหรือระแนงรั้วบ้าน ใบดกหนาเป็นรูปรีปลายแหลมโคนใบมน ดอกออกตามปลายกิ่งแขนง เป็นช่อรวมกันหลายสิบดอก แต่ละดอกเป็นหลอดยาว 2-3 นิ้ว มีกลีบที่ปลายหลอดดอกละ 5 กลีบ ลักษณะกลีบเรียงปลายมนคล้ายเล็บมือนางเมื่อเริ่มบานจะมีสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและสีแดงเข้มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากในแต่ละช่อมีดอกมากและบานไม่พร้อมกันจึงมักเห็นในแต่ละช่อมีทั้งดอกสีขาวสีชมพูและสีแดงปะปนกัน บางคนอาจเข้าใจผิดไปว่า‘เล็บมือนาง’มีดอกหลากหลายสี
หากใครสนใจไม้เถาดอกหอมชนิดนี้ เพียงแค่นำเอากิ่งที่ได้จากการปักชำมาปลูกลงดินร่วนที่ผสมปุ๋ยคอกพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่มชื้น‘เล็บมือนาง’ เป็นไม้กลางแจ้งที่ต้องการแสงมากพอสมควร แต่ต้องการน้ำปานกลาง ควรรดน้ำทุกวันในช่วงที่เริ่มปลูก แต่เมื่อลำต้นแข็งแรงดีแล้วจะรดน้ำวันเว้นวันก็ได้ เมื่อดอกเริ่มบานควรใส่ปุ๋ยบำรุงดอก เมื่อต้นเริ่มโตควรหาหลักหรือทำร้านให้กิ่งได้เลื้อยและเกาะยึดเพื่อเป็นการพยุงลำต้น และควรตัดแต่งกิ่งบ้างไม่เช่นนั้นกิ่งจะเลื้อยพาดพันไปทั่วไม่เป็นรูปทรง ซ้ำยังอาจเลื้อยไปพาดหลังคาและริมรั้วเพื่อนบ้านอาจทำให้เดือดร้อนได้ ผู้ปลูกจึงต้องคอยตัดตกแต่งรูปทรงเดือนละครั้งเล็บมือนางจะไม่ค่อยพบโรคกวนใจ มีแค่หนอนน้อยที่มาป้วนเปี้ยนคอยกัดกินใบทำให้ใบเว้าแหว่งไม่สวยงามเท่านั้น
ประโยชน์ของ‘เล็บมือนาง’ มีทั้งใบ ผล และรากที่ใช้ทำยาสมุนไพร ใบอ่อนยังสามารถนำมารับประทานได้ทั้งดิบและสุก เพราะมีคุณค่าทางอาหารเหมือนผักชนิดอื่น แต่ก่อนนำมารับประทานควรมั่นใจว่าไม่มีการฉีดยาพ่นเพื่อไล่หนอน
ปัจจุบันตามเมืองใหญ่ เราไม่ค่อยพบเห็น‘เล็บมือนาง’ มากนัก อาจเป็นเพราะเป็นไม้โตเร็วที่ต้องตัดแต่งและต้องการพื้นที่ในการแตกกิ่งก้านสาขา สวนทางกับวิถีชีวิตคนเมืองซึ่งอยู่ในที่กะทัดรัด ต้องเร่งรีบทำมาหากินตื่นเช้ากลับดึก วันหยุดต้องคอยส่งลูกไปเรียนพิเศษหรือออกไปหารายได้เสริม คงไม่มีเวลามานั่งอ้อยอิ่งดูแลสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบบ้าน แต่หากครอบครัวไหนพอมีเวลาเหลือ แนะนำให้หาเล็บมือนางมาปลูกสักต้นในบริเวณบ้าน เพราะเธอเป็นไม้สวยถึกอดทนไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ปล่อยให้เลื้อยไปตามซุ้มประตู รั้วบ้าน หรือศาลานั่งเล่น เมื่อเติบโตให้ร่มเงาออกดอกผลส่งกลิ่นหอมในเวลาเย็นย่ำและตลอดค่ำคืน คุณจะพบว่าบ้านเราสุดแสนจะมีเสน่ห์และเป็นสถานที่พิเศษได้
Combretum indicum, also known as the Chinese honeysuckle or Rangoon creeper, is a vine with red flower clusters and is found in Asia. It is found in many other parts of the world either as a cultivated ornamental or run wild.
Rangoon creeper is found in thickets or secondary forests of the Philippines, India and Malaysia. It has since been cultivated and naturalized in tropical areas such as Burma, Vietnam, and Thailand.
The flowers change in color with age and it is thought that this is a strategy to gather more pollinators. The flower is initially white and opens at dusk. This attracts hawkmoths with long tongues for pollination. On the second day it turns pink and on the third it turns red attracting day flying bees and birds. The flower also changes from a horizontal orientation to a drooping pose.
อ้างอิง
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jitigan77&month=16-06-2016&group=29&gblog=42
https://www.doctor.or.th/article/detail/2499