สวนตะวันออก

Lantern of Peace and pagoda

Credit: http://test2.mandalingua.com/en/picturegallery/chinese-garden/

Oriental Landscape / การจัดภูมิทัศน์แบบตะวันออก

เวลาที่พูดถึงการออกแบบสไตล์ใดๆก็ตาม ความแตกต่างระหว่างคนทั่วไป กับคนที่เป็นนักออกแบบตัวจริงนั้นดูไม่ยาก เพราะคนที่เป็นนักออกแบบมืออาชีพ หรือมีความสนใจในด้านศิลปะการออกแบบ ไม่ว่าในสาขาใดๆอย่างจริงจังนั้น จะไม่ได้สนใจเพียงแค่หน้าตาภายนอก หรือภาพลักษณ์อันผิวเผิน แต่จะมองลึกไปถึงที่มาของรูปแบบนั้นๆ ว่าเกิดมาจากแนวคิดใด มีประวัติศาสตร์หรือแรงบันดาลใจอะไรอยู่เบื้องหลัง ผลงานที่ปรากฎตอบโจทย์บริบทสภาพแวดล้อม และสนองประโยชน์ใช้สอยได้ดีเพียงใด ในขณะที่คนทั่วไปอาจมองแค่ภาพภายนอก

Tropical 2

ในการเลือกสไตล์งานภูมิทัศน์นอกบ้าน หรือสไตล์ของสวน หากมีการพูดถึงสวนแนวตะวันออก นักออกแบบสวนตัวจริงก็จะต้องตอบให้ได้ว่า สวนตะวันออกในความหมายที่พูดถึงนั้น อยู่ภายใต้บริบทใด เช่น ถ้าพิจารณาในแง่ของที่ตั้ง ตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ สวนตะวันออกอาจเป็นได้ทั้งสวนเขตร้อน สวนจีน หรือสวนญี่ปุ่น เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศในโลกตะวันออก สไตล์สวนจากประเทศต่างๆที่กล่าวมาจึงถือได้ว่าเป็นสวนสไตล์ตะวันออกได้ทั้งสิ้น

นอกจากการเลือกรูปแบบการจัดวางภูมิทัศน์ตามสไตล์ของแต่ละประเทศแล้ว หัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์บรรยากาศสวนให้มีความเป็นตะวันออกก็คือ “การเลือกชนิดของพันธุ์ไม้” เพราะหากเปรียบงานจัดสวนเป็นอาหารจานหนึ่ง วัตถุดิบทุกชนิดรวมไปถึงเครื่องปรุง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อาหารนั้นประกอบกันขึ้นมาแล้วมีรสชาติแบบใดแบบหนึ่ง หรือบ่งบอกลักษณะของชาติใดชาติหนึ่ง ไม่ว่าจะเลือกวิธีปรุงแบบไหน หรือจัดจานให้มีหน้าตาแบบใดก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หากเลือกที่จะใช้วาซาบิ มาทำอาหารกับเนื้อปลาต่างๆ ก็มักจะพาความรู้สึกของคนชิมให้นึกถึงอาหารญี่ปุ่น หรือการนำเครื่องแกงไทยมาปรุงกับเนื้ออะไรก็ตามแล้วเสิร์ฟกับข้าว ก็จะกลายเป็นอาหารไทย ในความรู้สึกของคนที่รู้จักและคุ้นชินกับอาหารไทย แต่จะสวยหรือไม่สวย อร่อยหรือไม่อร่อย ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการและฝีมือผู้ปรุง

การจัดสวนก็เช่นกัน หากคุณต้องการสวนตะวันออก สิ่งที่คุณต้องมีคือ

  1. การพิจารณาความเหมาะสมกับพื้นที่บ้าน โดยคำนึงถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมหลัก ความต้องการใช้งาน และความชอบส่วนตัว
  2. รูปแบบการจัดวางภูมิทัศน์ตามหลักปรัชญาตะวันออก จะจ้างนักออกแบบหรือทำเองก็ตามสะดวก
  3. การเลือกพันธุ์ไม้ตะวันออก หรือพันธุ์ไม้ที่เหมาะกับคอนเซ็ปต์การออกแบบที่เลือกตามข้อ1 ซึ่งก็โชคดีที่บ้านเมืองเราเป็นประเทศตะวันออกอยู่แล้ว ก็จะหาง่าย และเลี้ยงไม่ยาก

อันที่จริง วิธีง่ายที่สุดในการมีสวนแบบตะวันออกแบบง่ายที่สุดก็คือ เพียงคุณเลือกปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ผล หรือแม้แต่พืชผักสวนครัวที่เป็นพืชพื้นถิ่นของบ้านเราลงในพื้นที่เตรียมไว้ สวนของคุณก็เป็นสวนตะวันออกโดยอัตโนมัติแล้ว ทำนองเดียวกับการเกิดมาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ที่เกิดมาปุ๊บก็เป็นได้เลย แต่ถ้าอยากเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายที่ดูดี โดดเด่นสะดุดตาเหนือคนอื่น  ก็ต้องมีความรู้สองประการคือ หนึ่ง-ต้องรู้ว่าการเป็นคนที่ดูดีนั้นควรมีลักษณะเป็นอย่างไร และ สอง-ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถมีลักษณะเช่นนั้นได้ การจัดสวนก็เช่นกัน

สไตล์สวนแบบตะวันออกมีแยกย่อยหลายประเภท แต่มีประเภทใหญ่ๆที่คนทั่วโลกรู้จักอย่างกว้างขวาง คือ สวนเขตร้อน สวนญี่ปุ่น และสวนแบบจีน ทั้งนี้แม้ว่าอารยธรรมอินเดียจะมีอิทธิพลในโลกตะวันออกไม่แพ้จีนและญี่ปุ่น แต่การจัดสวนแบบอินเดียไม่นิยมทำกันในบ้านคนทั่วไป เพราะสวนที่โด่งดังของอินเดียมักอยู่ในปราสาทราชวัง ซึ่งยากที่บ้านคนทั่วไปจะทำตาม เพราะใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ อาจจะหยิบยืมมาได้แค่องค์ประกอบย่อยๆ เมื่อเอ่ยถึงสวนตะวันออกจึงไม่ค่อยมีใครคิดถึงสวนแบบอินเดีย

pexels-photo-414391

สวนเขตร้อน – เป็นการจัดสวนที่จำลองเอาสภาพป่าเขตร้อนมาปรุงแต่งให้สวยงามเหมาะกับบ้าน โดยมีทั้งความร่มครึ้มของไม้ยืนต้น พันธุ์ไม้เขตร้อนสีสดใส และจัดแต่งเลียนแบบให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด หลักการสำคัญของการออกแบบบรรยากาศภูมิทัศน์สวนป่าเขตร้อนคือ การเลือกพันธุ์ไม้นานาชนิดที่อยู่ร่วมกันได้ในระบบนิเวศตามธรรมชาติของป่าเมืองร้อนจริงๆ เช่น เมื่อเลือกปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาแล้ว ก็ต้องเลือกสายพันธุ์ไม้พุ่มหรือไม้ประดับที่สามารถปลูกให้เติบโตได้ดีใต้ร่มไม้ใหญ่ เช่น เฟิร์น หรือไม้รำไรต่างๆ

Tropical 1

และเนื่องจากสวนเขตร้อนต้องการความชื้นสูง ต้องการน้ำเยอะ ก็ควรทำแหล่งน้ำหรือบ่อน้ำไว้ในสวนด้วย บรรยากาศที่ควรจะได้จากสวนเมืองร้อนคือความชุ่มชื้น และรูปแบบที่ค่อนข้างเป็นอิสระ องค์ประกอบที่ตกแต่งสวนให้ความรู้สึกและผิวสัมผัสที่เป็นธรรมชาติ เช่น พื้นทางเดินที่มีมอสเกาะ โอ่งอ่างดินเผาสีธรรมชาติ

chinese_garden_4

Credit: http://test2.mandalingua.com/en/picturegallery/chinese-garden/

สวนแบบจีน – การจัดสวนของจีนมีมานานประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสต์กาล จริงๆแล้วในอารยธรรมจีนมีทั้งสวนแบบชาวบ้าน และสวนแบบชนชั้นสูง เช่น ในพระราชวังหรือตามบ้านของคหบดี แต่เนื่องจากภาพของสวนจีนที่โลกรู้จักดีล้วนมาจากสวนของชนชั้นสูง ซึ่งไม่ได้เน้นปลูกต้นไม้พืชผักสมุนไพรเพื่อกินเป็นอาหารแบบสวนชาวบ้าน แต่ปลูกเพื่อสร้างภูมิทัศน์อันสวยงามตามความเชื่อถือทางศาสนา อิงตามหลักปรัชญาที่เชื่อถือ สื่อสารความมั่งคั่ง รสนิยม และนำพาโชคดีมาสู่เจ้าของบ้าน เมื่อพูดถึงสวนจีน จึงหมายถึงสวนในระดับหรูหรา โดยถ้ามองย้อนไปตามประวัติศาสตร์จีน จะพบว่าในช่วงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1386 -1644 ) เป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านจัดสวนสูงสุด

แนวคิดหลักที่ฝังอยู่เบื้องหลังรูปแบบการจัดสวนของคนจีน คือความเชื่อว่า ตัวเองเป็นศูนย์กลางของโลก รูปแบบของการจัดสวนจึงสื่อถึงแนวคิดนั้น โดยจะมุ่งเน้นการจำลองโลกตามทัศนะของตนเองมาไว้ในสวน แต่ภายใต้แนวคิดของจำลองธรรมชาตินั้นก็แฝงไว้ซึ่งความพยายามอยู่เหนือธรรมชาติหรือควบคุมธรรมชาติอยู่ในที ทั้งนี้หลักปรัชญาที่ยึดถืออย่างกว้างขวางในจีนคือ ลัทธิขงจื้อ ซึ่งเชื่อมั่นในคุณธรรมและความดีงาม และลัทธิเต๋า ที่เคารพในธรรมชาติ ก็สะท้อนออกมาในรูปแบบของสวนจีนด้วย

องค์ประกอบพื้นฐานของสวนแบบจีนที่นิยมจัดกันในบ้าน ได้แก่ ภูเขา เนิน และที่ราบ สวนแบบจีนจะโปร่ง ไม่เน้นร่มเงาจากไม้ใหญ่ที่ทำให้ครึ้มหรือทึบตัน จึงมีการสร้างศาลา หอชมวิว เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้าไปอาศัยร่มเงาในส่วนนั้น มีแหล่งน้ำที่จำลองบรรยากาศธรรมชาติ ด้วยลำธาร ก้อนหิน มีสะพานข้ามน้ำ และพื้นทางเดินที่คดเคี้ยว ไม้ยืนต้นในสวนจีนจะเป็นไม้ที่มีลักษณะโปร่ง ลู่ลม เช่น หลิว หรือต้นสนที่เติบโตในแนวดิ่ง ไม่แผ่กิ่งก้านหรือใบปกคลุมพื้นที่สวน เมื่อมีลมพัดก็จะโยกส่ายไหวเอนตามแรงลม นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังมีเหตุผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคือ การที่คนจีนต้องอาศัยความอยู่รอดจากความเข้าใจในกระแสลมและน้ำในลุ่มน้ำสำคัญของจีน (อันเป็นที่มาของศาสตร์ฮวงจุ้ย) ที่นอกจากจะหล่อเลี้ยงชีวิตแล้วยังเป็นอันตรายคร่าชีวิตผู้คนมหาศาลเมื่อถึงหน้าอุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง และมีลมพายุพัดแรงมาก ต้นไม้ใหญ่ที่ไหวเอนตามแรงลมได้ดีจะไม่โค่นล้มเป็นอันตรายแก่ชีวิตผู้คน นอกจากนี้ หากสังเกตดีๆจะพบว่า การวางภูมิทัศน์จีนแบบดั้งเดิมจะเป็นการวางบ้านล้อมสวน ต่างกับสวนของบ้านคนไทยหรือฝรั่ง ที่เป็นสวนล้อมบ้าน

การเลือกพันธุ์ไม้สำหรับสวนจีน ก็ต้องพิจารณาสายพันธุ์ที่เหมาะกับดินฟ้าอากาศในบ้านเราด้วย เพราะฤดูกาลในประเทศจีนนั้นมีความแตกต่างของอุณหภูมิความชื้นต่างจากบ้านเรา ต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ต้นไม้ความหมายดีๆ ที่นิยมโดยทั่วไปในสวนจีน ได้แก่ บัวหลวง หมายถึง มิตรภาพ การรวมกันอยู่อย่างสันติสุข ดอกเบญจมาศ หมายถึงความโชคดี ต้นสนที่เขียวสดตลอดปี หมายถึงความมีสุขภาพดี ต้นไผ่ หมายถึง ความอ่อนน้อมการปรับตัวเก่ง ต้นกล้วยที่แทงหน่อใหม่เสมอ หมายถึงความทะเยอทะยาน ใฝ่รู้ ต้นหลิว หมายถึงความอ่อนช้อยของหญิงสาวและความอ่อนโยนที่เข้มแข็งภายใน ต้นพลับผลสีทอง หมายถึงความสุขความมั่งคั่ง ต้นทับทิม หมายถึงความอุดมสมบูรณ์

pexels-photo-234510

สวนญี่ปุ่น – แม้ว่ารูปแบบสวนในญี่ปุ่นจะมีหลายแบบ เช่น สวนน้ำชา สวนภูเขา และสวนหิน แต่หลักคิดเกี่ยวกับการจัดสวนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกมาจากอิทธิพลทางความคิดของพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งหากมองด้วยสายตาชาวตะวันตกที่เห็นงานออกแบบสไตล์ตะวันออกของทุกประเทศดูคล้ายๆกันไปหมด ก็อาจเข้าใจผิดว่า สวนญี่ปุ่นกับสวนจีนนั้นคล้ายกัน ทั้งที่ความจริงแล้วแตกต่างกัน

เนื่องจาก นิกายเซน ได้วางรากฐานแนวคิดมีความสำคัญต่อรูปแบบการจัดสวนญี่ปุ่น ถ้าชอบสวนญี่ปุ่นก็ควรปูพื้นเข้าใจเรื่องเซนเอาไว้พองาม จะได้ไม่ปล่อยไก่

เซน เป็นนิกายหนึ่งของศาสนาพุทธ มีจุดกำเนิดในอินเดีย พัฒนาที่ประเทศจีน ก่อนที่จะถูกเผยแพร่มาสู่เกาหลีและเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า ในช่วงระหว่างที่เผยแผ่มาสู่ญี่ปุ่น ผู้ที่ศึกษาปรัชญาตะวันออกจะรู้ว่า เซน กับ เต๋า มีความคล้ายคลึงกันในหลายแง่ และที่สำคัญคือการเคารพธรรมชาติ

ปรัชญาของเซน คือ การเข้าถึงธรรมะด้วยธรรมชาติ ไม่นิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เซนจะเน้นการฝึกปฏิบัติ ฝึกการใช้ปัญญา และสมาธิ เพื่อให้ เกิดพุทธิปัญญาจนเข้าใจหลักธรรมด้วยตนเอง จุดมุ่งหมายของเซน คือการตระหนักรู้ในพุทธภาวะ การบรรลุธรรมในแบบเซนจะเรียกว่า “ซาโตริ” หรือภาวะรู้แจ้ง ซึ่งเป็นภาวะที่ อวิชชา ตัณหา อุปทาน มลายหายไปสิ้น เมื่อบรรลุแล้วก็จะเข้าสู่ความหลุดพ้น ทุกสิ่งกลายเป็นสุญญตา หรือ “ความว่าง” ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่พระนิพพาน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของเซนคือการไม่ยึดติดในรูปแบบพิธีกรรม หรือแม้แต่พระไตรปิฎก เซนถือว่า การบรรลุมรรคผลนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทอักษร หรือความรู้ด้านปริยัติ เพราะตัวอักษรหรือภาษามีข้อจำกัด ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงทั้งหมดได้ และการหลุดพ้นในแบบเซน ก็ไม่ต้องมีขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องเจริญไตรสิกขาตามลำดับมาเลย ใครก็ตามที่ตระหนักรู้แก่นแท้ข้องจิตใจตน ก็ถือว่าบรรลุเป็นอรหันต์

การจัดสวนญี่ปุ่นโดยอิงหลักปรัชญาเซนแท้ๆ จึงหมายถึง การเคารพกฎของธรรมชาติและการชื่นชมความงามของธรรมชาติ ประกอบด้วยความไม่สมบูรณ์แบบ ความไม่จีรังยังยืน การเปลี่ยนสภาพผุกร่อนไปตามกาลเวลา เป็นสัจธรรมหรือความจริงที่งดงามของชีวิต บนพื้นฐานความคิดว่า “ความจริงคือความงาม และความงามคือความจริง” แต่ทั้งนี้ก็อย่าเข้าใจผิดไปว่า สวนแบบเซนคือสวนที่ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามยถากรรมเพื่อเคารพธรรมชาติ เพราะลองหลับตานึกถึงสวนแบบนั้นคงจะรกเรื้อไม่เบา เพราะจริงๆแล้ว รูปแบบสวนญี่ปุ่นแบบเซน ที่คนทั่วไปนิยมจะเป็นการสื่อสารแนวคิดแบบเซนในเชิงสัญลักษณ์ หรือแบบนามธรรม ในรูปแบบของศิลปะที่มีชีวิตมากกว่า

japanese 2

โครงสร้างหรือวิธีคิดหลักๆ การออกแบบสวนญี่ปุ่น ประกอบด้วย การวางตำแหน่งจุดเด่นของสวน ไว้ในที่ซึ่งคนในบ้านสามารถมองเห็นได้ ตามคติการจัดสวนแต่โบราณ คือเอาคนในบ้านเป็นหลัก จัดสวนเพื่อดูเอง ดังนั้นมุมมองของสวนญี่ปุ่นจึงเป็นการมองจากภายในสู่ภายนอก ผิดกับสวนของชาวตะวันตกซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม คือ จะปลูกต้นไม้ชิดอาคารเพื่อให้อาคารดูดี ดูเด่น และดูสวย โดยไม่คำนึงถึงมุมมองจากในบ้าน แต่คำนึงถึงมุมมองของผู้คนที่อยู่นอกอาคารจะได้ชื่นชมและทำให้เจ้าของบ้านภาคภูมิใจ หลักการทั้งสองนี้แตกต่างกันแบบตรงกันข้าม ฉะนั้นการจัดก็ย่อมต่างกันสวนญี่ปุ่น คำนึงถึงความงามของเนื้อแท้ของวัสดุตามธรรมชาติ ยกให้ธรรมชาติเป็นใหญ่ ดังนั้นการใช้หิน อิฐ หรือวัสดุต่างๆ จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่มีการเคลือบ ฉาบ หรือประดิษฐ์ ไม่มีการใช้รูปปั้น รูปหล่อ ที่เหมือนของจริงมาประดับสวน ไม่ใช้พรรณไม้ประเภทใบใหญ่มาก เช่น ปาล์มพัด หรือตาลมาประดับสวน จะพยายามควบคุมสัดส่วนขององค์ประกอบให้เหมือนการจำลองโลกใบเล็กๆ

พันธ์ไม้ที่นิยมในการจัดสวนญี่ปุ่น สำหรับไม้ยืนต้น จะเป็นชนิดที่มีกิ่งก้านและใบหนาทึบ เช่น พีช เมเปิล โอ๊ค ส่วนชนิดที่มีกิ่งก้านและใบโปร่ง เช่น สนญี่ปุ่น หลิว ไผ่ อย่างนี้บ้านเราก็ต้องเลือกเอาที่มีขายในท้องตลาดเช่น ไผ่ หลิว ถ้าเป็นไม้พุ่ม นิยมตัดแต่งเป็นพุ่มกลม หรือรูปไข่เพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น อาซาเลีย ชาดัด หรือพวกข่อย ก็น่าจะมาประยุกต์ใช้ได้ ถ้าเลือกไม้ดัด ประเภทบอนไชหรือไม้แคระซึ่งดัดหรือตัดแต่งให้มีลีลาเหมือนไม้ต้นใหญ่แต่ย่อส่วนให้เล็กลง จะใช้พวกไทร ไกร ชาดัด ของเราจะหาได้ง่าย ส่วนไม้น้ำ ก็มีทั้งปลูกกลางสระน้ำ และบริเวณ ริมตลิ่ง เช่น บัว กก ไอริส ถ้าเป็นพืชคลุ่มดิน ที่ใช้ปลูกไว้บริเวณใกล้ก้อนหินหรือตอไม้ เพื่อให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเพื่อเชื่อมต่อกับสวนหย่อมที่อยู่ข้างเคียง ก็จะใช้ เฟิร์น หรือปล่อยให้มอสขึ้นปกคลุมหินหรือพื้นแข็งบางส่วน

japanese 3

เมื่อรู้จักชนิดและที่มาที่ไปของสวนแบบตะวันออกในระดับเบื้องต้นแล้ว ก็จะทำให้เดินต่อได้ไม่ยาก และเลือกได้ชัดเจนว่า ต้องการสวนแบบไหน อย่างไร สิ่งที่สำคัญในการจัดสวนให้สวยและอยู่ได้นานไม่ใช่ความเก่งของคนออกแบบหรือนักจัดสวน แต่เป็นเจ้าของสวนที่จะต้องคอยดูแลรักษาสวนของตนอย่างดีและสม่ำเสมอ ประเภทของสวนที่เลือกอาจบอกความชอบว่าคุณชอบอะไร แต่สภาพความสมบูรณ์ของสวนในระยะยาวจะอธิบายได้ดีเยี่ยมว่า คุณเป็นคนแบบไหน

 

Your garden defines who you are

สวนของคุณคือสิ่งที่บ่งบอกว่าคุณเป็นคนแบบไหน


 

อ้างอิง:

http://www.ocanihao.com/culture6.html

https://nookungrunchuan.wordpress.com

www.facebook.com/ChumchnKhnRaksPhrrnMi

http://www.sudoku.in.th/zen-intro.html

http://www.decorreport.com

 

 

Buttercup Garden

Buttercup Garden เป็นนามปากกาของนักออกแบบจากรั้วจามจุรี ที่หลงรักช่วงเวลาดีๆในสวน และมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และไอเดียเกี่ยวกับสวน เพื่่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ปรารถนาความรื่นรมย์ในโลกสีเขียว และการจัดสวนสวยในบ้านด้วยตัวเอง

You may also like...