Knowledge about color in the decorative arts
การใช้สีในงานออกแบบไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อความสวยงาม แต่ยังบ่งบอกถึงแนวความคิด และเป็นเครื่องมือสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ความรู้เรื่องสีมีทั้งส่วนที่เป็นสากล และส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม ซึ่งมีความหลากหลาย เช่น การใช้แถบสีเหลืองสลับกับสีดำ เป็นสัญลักษณ์สากลว่า มีสิ่งที่ต้องระมัดระวัง หรือเป็นอันตราย ขณะที่ในสมัยราชวงศ์ถัง มีการใช้สีเหลืองเป็นสีประจำฉลองพระองค์ของฮ่องเต้ จึงห้ามสามัญชนสวมใส่โดยเด็ดขาด จนกลายเป็นสีต้องห้ามในวัฒนธรรมจีนโบราณ
ความรู้ในการใช้สี ประกอบด้วยทั้งศาสตร์ และศิลป์ ในส่วนที่เป็นศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล มีการทดสอบกระบวนการ มีผลลัพธ์ที่แน่นอนชัดเจน บันทึกไว้เป็นสถิติที่สามารถนำไปอ้างอิงหรือต่อยอดได้ และส่วนที่เป็นศิลป์ คือเรื่องของความพึงพอใจ ความรู้สึกนึกคิด ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัว มีผลลัพธ์เป็นอิสระผันแปรไปตามพื้นฐานความรู้ ความคิด ประสบการณ์ จินตนาการ ค่านิยม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่างของสีเหลืองในวัฒนธรรมจีนที่กล่าวมาข้างต้น
หากในการตกแต่งบ้านของเรา มีการจ้างนักออกแบบที่มีความสามารถ มีประสบการณ์สูงพอที่จะใช้ความรู้เรื่องสีทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ ก็ไม่ใช่ภาระสำหรับเจ้าของบ้านที่จะต้องมาเรียนทฤษฎีสีเอง แต่หากคุณเป็นคนที่ชอบการตกแต่งบ้าน ชอบศิลปะ หรือต้องการสื่อสารความคิดกับผู้ออกแบบที่จ้างมาให้ได้ตรงใจ ชนิดที่ว่า พูดจาเป็นภาษาเดียวกันกับมัณฑนากรได้เป๊ะๆ ความรู้เรื่องสีในศิลปะการตกแต่ง ก็เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ไว้บ้าง
สีที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็น สีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และ สีที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยสีตามธรรมชาติก็ยังแบ่งออกเป็น สีของแสง คือสีที่ตาเห็นแต่จับต้องไม่ได้ เรียกว่า Spectrum หมายถึงสีที่เกิดจากการหักเหของแสง เช่น สีรุ้ง สีจากแท่งแก้วปริซึม กับ สีที่อยู่ในวัตถุ เรียกว่า Pigment หมายถึง สีที่มีเนื้อสีให้จับต้องได้อยู่ในวัตถุธรรมชาติทั่วไป เช่น สีของพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุต่างๆ ส่วนสีที่มนุษย์สร้างขึ้น คือ สีที่ได้จากการสังเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ เช่น งานศิลปะ อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และในชีวิตประจำวัน โดยสังเคราะห์จากวัสดุธรรมชาติ และจากสารเคมี เรียกว่า สีวิทยาศาสตร์
การใช้สีที่อ้างอิงศาสตร์ด้านจิตวิทยา มีผลการทดลองบ่งบอกว่าสีเป็นตัวกระตุ้นความรู้สึกและมีผลต่อจิตใจของมนุษย์ โดยเชื่อว่าสีต่างๆจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น
- สีแดง ให้ความรู้สึกเร่าร้อน รุนแรง อันตราย ตื่นเต้น
- สีเหลือง ให้ความรู้สึก สว่าง อบอุ่น แจ่มแจ้ง ร่าเริง ศรัทธา มั่งคั่ง
- สีเขียว ให้ความรู้สึก สดใส สดชื่น เย็น ปลอดภัย สบายตา มุ่งหวัง
- สีฟ้า ให้ความรู้สึก ปลอดโปล่ง แจ่มใส กว้าง ปราดเปรื่อง
- สีม่วง ให้ความรู้สึก เศร้า หม่นหมอง ลึกลับ
- สีดำ ให้ความรู้สึก มืดมิด เศร้า น่ากลัว หนักแน่น
- สีขาว ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ว่างเปล่า จืดชืด
- สีแสด ให้ความรู้สึก สดใส ร้อนแรง เจิดจ้า มีพลัง อำนาจ
- สีเทา ให้ความรู้สึก เศร้า เงียบขรึม สงบ แก่ชรา
- สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึก เงียบขรึม สงบสุข จริงจัง มีสมาธิ
- สีน้ำตาล ให้ความรู้สึก แห้งแล้ง ไม่สดชื่น น่าเบื่อ
- สีชมพู ให้ความรู้สึก อ่อนหวาน เป็นผู้หญิง ประณีต ร่าเริง
- สีทอง ให้ความรู้สึก มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์
แต่ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงจิตวิทยาก็ไม่อาจนำมาเป็นเกณฑ์ในการออกแบบได้ทั้งหมด เพราะความรู้สึกที่คนเรามีต่อสีต่างๆ ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ห้องที่ตกแต่งด้วยโทนสีเทาซึ่งในทางจิตวิทยาบอกว่า ให้ความรู้สึกชรา เศร้า อาจให้บรรยากาศเรียบโก้ หากสีเทานั้นเป็นสีของวัสดุธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หินแท้ หรือวัสดุที่มีผิวสัมผัสหรูหรา อย่างผ้าไหมสีเทาเหลือบเงิน ห้องสีตกแต่งในโทนน้ำตาลอาจดูอบอุ่น สวยสง่า หรูหรา หากสีนำตาลนั้นคือสีของเนื้อไม้ราคาแพง หรือสีของโซฟาหนังชั้นเลิศ ที่ให้บรรยากาศการตกแต่งสไตล์ยุโรป การเลือกใช้สีในงานออกแบบจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลหลากหลายมาเป็นพื้นฐานการพิจารณา
ถ้าอยากคุยเรื่องสีให้เป็นภาษาเดียวกับนักออกแบบ ก็เริ่มต้นด้วยการเรียกประเภทของสีในลักษณะต่างๆด้วยความเข้าใจ และใช้ศัพท์แสงในเชิงศิลปะให้ถูกหลัก โดยคำเกี่ยวกับสีที่เรามักพบบ่อยและควรรู้ไว้ไม่ให้เสียฟอร์ม ได้แก่
- Hue สีแท้ หมายถึง ความเป็นสีที่ไม่ได้มีการผสมให้เข้มขึ้น หรือจางลง สีแท้เป็นสีในวงจรสี เช่น สีแดง น้ำเงิน เหลือง ส้ม เขียว ม่วง ฯลฯ
- Value น้ำหนักของสี หมายถึง ค่าความอ่อนแก่ หรือ ความสว่างและความมืด ของสี โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ Tint คือสีแท้ถูกทำให้อ่อนลงโดยผสมสีขาว และ Shade คือสีแท้ที่ถูกทำให้เข้มขึ้นโดยผสมสีดำ
- Intensityความจัด หรือความเข้มของสี หมายถึง ความสดหรือความบริสุทธิ์ของสีที่มิได้ถูกผสมให้สีหม่นหรืออ่อนลง หากสีนั้นอยู่ท่ามกลางสีที่มีน้ำหนักต่างค่ากันจะเห็นสภาพสีแท้สดใสมากขึ้น เช่น วงกลมสีแดง บนพื้นสีน้ำเงินอมเทา
- Neutralค่าความเป็นสีกลางหมายถึง การทำให้สีแท้ที่มีความเข้มของสีหม่นลง โดยการผสมสีตรงข้าม เรียกว่า การเบรกสี เช่น สีแดงผสมกับสีเขียว หรือผสมด้วยสีที่เป็นกลาง เช่น สีเทา สีน้ำตาลอ่อน สีครีม และขาว เพื่อลดความสดของสีแท้ลง
ความรู้สำคัญเกี่ยวกับสีในแง่ที่เป็นศาสตร์ ซึ่งคนในวงการออกแบบและศิลปะต้องรู้เป็นพื้นฐานก็คือ “ทฤษฎีสี” ที่กำหนดสีขั้นต้นเป็น แดง เหลือง และน้ำเงิน แล้วนำสีทั้งสามมาจับคู่ผสมซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดสีต่างๆอีกมากมาย และมีการเรียกสีแบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่ สีขั้นที่ 1 (Primary Colors) คือ แม่สี 3สี ได้แก่ สีแดง เหลือง และน้ำเงิน สีขั้นที่ 2 (Secondary Colors) คือ สีที่เกิดจากการผสมกันเป็นคู่ๆ ระหว่างแม่สี 3 สี จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 3สี สีขั้นที่ 3 (Tertiary Colors) คือ สีที่เกิดจากการผสมกันเป็นคู่ๆ ระหว่างแม่สี 3 สี กับสีขั้นที่ 2 จะได้สีเพิ่มขึ้นอีก 6สี และ สีกลาง (Neutral Colors) คือ สีที่เกิดการผสมสีทุกสี ในวงจรสี หรือ แม่สี 3สี ผสมกัน จะได้สีเทาแก่ โดยสีทั้ง 3ขั้น เมื่อนำมาจัดอยู่เป็นวงจรจะได้ลักษณะเป็นวงล้อสี
อีกหนึ่งศัพท์แสงที่น่ารู้ก็คือTone วรรณะของสี แบ่งตามความรู้สึกด้านอุณหภูมิ เป็น 2 โทน คือ โทนร้อน ได้แก่ เหลือง, ส้มเหลือง, ส้ม, ส้มแดง, แดง และม่วงแดง กับ โทนเย็น ได้แก่ สีม่วง, ม่วงน้ำเงิน, น้ำเงิน, เขียวน้ำเงิน, เขียวและเขียวเหลือง เมื่อเราได้ยินคำว่าโทนสี ก็ขอให้รู้ว่า เขาหมายถึงอุณหภูมิร้อนเย็นของสี คำนี้คนพูดกันบ่อย แต่คนเข้าใจจริงๆมีน้อย
เวลาที่นักออกแบบมืออาชีพเขาเลือกสีให้เราในงานตกแต่ง หลายคนอาจนึกว่าเขาใช้แค่รสนิยมที่ดี หรือความชอบเป็นพื้นฐาน แต่ความจริงมีหลักการที่เขาเลือกใช้ซ่อนอยู่ในระบบความคิด ซึ่งคนที่เรียนศิลปะส่วนมาก โดยเฉพาะด้านการตกแต่ง จะได้รับการปลูกฝังมาเพื่อเป็นแนวทาง (Scheme) หรือเทคนิคในการพิจารณาเลือกใช้สีให้เหมาะสมกับชิ้นงาน เช่น
Monochrome การใช้สีเอกรงค์ หมายถึง การใช้สีเดียว แต่มีการลดหลั่นกันในเรื่องน้ำหนักสี เพื่อให้เกิดความแตกต่าง โดยจะใช้สีใดสีหนึ่งที่เป็นสีแท้ (Hue) หรือมีความสด (Intensity) เป็นตัวยืนเพียงสีเดียวให้เป็นจุดเด่นของพื้นที่ ส่วนประกอบอื่นๆนั้นจะใช้สีเดียวกันแต่ลดความสดของสีให้น้อยกว่าสีหลัก
Harmony การใช้สีกลมกลืน หมายถึง ความเข้ากันได้ของสีต่างๆ โดยไม่ขัดแย้ง หรือตัดกัน ความกลมกลืนของสีทำได้หลายลักษณะ ไม่จำเป็นว่าต้องใช้สีเหมือนกันหมดทั้งห้องเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวของสิ่งที่ไม่เหมือนกันก็ได้ เพียงแต่มีกฎเกณฑ์ที่สร้างความเข้ากันได้ให้เกิดขึ้นอย่างสวยงาม เช่น
- ความกลมกลืนด้วยค่าของน้ำหนักของสีๆเดียว (Total Value Harmony) คือการใช้สีหลักเพียงสีเดียว แต่มีความอ่อนแก่ต่างกัน เป็น Monochrome โดยใช้การผสมสีขาวให้น้ำหนักอ่อนลง และผสมดำให้น้ำหนักเข้มขึ้น
- กลมกลืนโดยใช้สีใกล้เคียง (Simple Harmony) เป็นการใช้สีข้างเคียงกันในวงจรสีมาอยู่ร่วมกัน เช่น ม่วง – ม่วงน้ำเงิน – น้ำเงิน หรือ เขียวเหลือง – เขียว – เขียวน้ำเงิน กลุ่มสีพวกนี้ก็จะเข้ากันได้เพราะมีสีพื้นฐานตัวเดียวกันเป็นตัวเชื่อมโยง คือ สีน้ำเงิน
- สีกลมกลืนโดยใช้สีคู่ผสม (Two Colors Mixing) หมายถึง สีคู่ใดคู่หนึ่งที่ผสมกันแล้วได้สีที่3 เปรียบเหมือนครอบครัวสีที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกัน เช่น สีแดง ผสมกับ สีเหลืองได้ สีส้ม ถ้านำทั้ง 3สี มาใช้ในงานเดียวกันในสัดส่วนที่เหมาะสม ก็จะดูกลมกลืนเข้ากันได้
- สีกลมกลืนโดยใช้วรรณะของสี (Tone) หมายถึง นำสีโทนเดียวกันมาจัดอยู่ด้วยกัน สีโทนร้อน เช่น แดง ส้ม เหลือง ม่วงแดง สามารถใช้ร่วมกันได้ลงตัว เช่นเดียว สีโทนเย็น ได้แก่ น้ำเงิน ม่วง เขียว เขียวน้ำเงิน ก็ใช้ร่วมกันได้เช่นกัน เรียกว่า Monotone ซึ่งคนมักสับสนกับ Monochrome ที่แปลว่าใช้สีเดียวแต่อ่อนแก่ต่างกัน
Tonality การสร้างสภาพสีโดยรวม ที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆในภาษาไทยว่า การคุมโทน หมายถึงการคุมโทนของภาพรวมงานออกแบบด้วยสีใดสีหนึ่งเป็นหลัก แล้วมีสีอื่นมาปนอยู่นิดๆหน่อยๆในสัดส่วนที่ดูน่าสนใจแต่ไม่เด่นเกินสีหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของรสนิยมและประสบการณ์ แต่ถ้าไม่ชัวร์ ก็เพียงระวังไม่ให้ส่วนของสีอื่นๆในพื้นที่มีมากเกิน 20% โทนสีหลักที่เราเลือกไว้ 80% ก็ยังคุมบรรยากาศให้ห้องที่เราตกแต่งยังดูดี ไม่ลายตาเกินไป
Discord การใช้สีขัดกัน คนที่ใช้เทคนิคนี้ได้ดีจะต้องมีความเก๋า หรือมีประสบการณ์ระดับหนึ่ง ไม่เช่นนั้น การใช้สีตัดกันจะทำให้การตกแต่งดูฉูดฉาดหรือเสี่ยงที่จะเชยได้ โดยเทคนิคที่นิยมใช้กันคือ นอกจากจะแบ่งสัดส่วนของคู่สีที่ตัดกันให้มีพระเอกพระรองชัดเจน ด้วยสัดส่วนประมาณ 70-30 หรือ 80-20 แล้ว ยังมีการทำให้สีใดสีหนึ่งในคู่สีที่ตัดกันมีความหม่น หรือจางลง บ้างก็ทำให้ดูทึบหรือเข้ม เพื่อให้เกิดมิติ และเกิดความหลากหลาย ดูแล้วไม่ใช่มีแค่สองสีโดดๆ เช่น หากเราเลือกแต่งห้องด้วยสีเขียวและแดง โดยใช้สีเขียว 80% แดง 20% ในองค์ประกอบส่วนที่เป็นสีเขียวนั้น ก็ควรมีผสมกันทั้งเขียวอ่อน เขียวแก่ เขียวจาง เขียวทึบ ฯลฯ ทำให้บรรยากาศหรือภาพโดยรวมมีเสน่ห์น่าสนใจ
ด้วยความรู้ขั้นพื้นฐานที่บอกเล่ามานี้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ได้ไม่ยาก สำหรับคนที่สนใจศึกษาเทคนิคการใช้สีในการตกแต่ง ที่จะยึดเป็นแนวทาง และเมื่อฝึกฝนช่ำชองแล้ว ก็จะสามารถสร้างสรรค์งานออกแบบตกแต่งได้สนุกและหลากหลายยิ่งขึ้นด้วยสไตล์ที่เป็นของตัวเอง
อ้างอิง
https://www.novabizz.com/CDC/Interior
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2244346078962183
https://www.smashingmagazine.com/2010/01/color-theory-for-designers-part-1-the-meaning-of-color/