ไม่จำเป็นต้องเกริ่นกันแล้วนะคะว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน และนับวันจะยิ่งร้อนอย่างน่าประหลาดขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่น่าประหลาดกว่าและคนไทยเราเห็นเป็นเรื่องธรรมดาคือความนิยมสร้างบ้านแบบเมืองหนาวขึ้นในเมืองร้อน
ใส่สูท ผูกเน็คไท ใส่ถุงน่องไปทำงาน แล้วแก้ปัญหาความร้อนด้วยการกระหน่ำเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำภายในตึก แข่งกันพ่นระบายความร้อนออกสู่บรรยากาศภายนอก ทำให้อากาศข้างนอกร้อนมากขึ้น ต้องติดแอร์กันมากขึ้น ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ธรรมชาติวิปริตแปรปรวน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่แก้กันไม่จบ
ในฤดูร้อนแสนร้อน เปิดแอร์เท่าไหร่ก็ไม่เย็นสะใจ บ้านใครไม่มีแอร์ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนเมืองร้อนทุกคนชอบอยู่เย็นๆ คอนเซ็ปต์ขั้นพื้นฐานที่สุดของการทำบ้านสำหรับเมืองร้อนคือทำอย่างไรก็ได้ให้บ้านเย็น คือป้องกันความร้อนจากภายนอกไม่ให้เข้าสู่ภายในได้ดีที่สุด ระบายความร้อนจากภายในออกไปได้เร็วที่สุด ตรงกันข้ามกับการทำบ้านเมืองเย็นหรือเมืองหนาวในประเทศตะวันตก ซึ่งต้องการรับความอบอุ่นจากแสงแดดให้ได้มากที่สุด เก็บกักความอบอุ่นเอาไว้ในอาคารให้ได้นานที่สุด ป้องกันความร้อนไหลออกและไม่ให้ความเย็นเข้ามาแทนที่ คือยอมอยู่แบบอับๆก็ได้ขอแค่ให้อบอุ่น ไม่เน้นเรื่องการรับลมหรือการระบายอากาศมากนัก เพราะอากาศหนาวเย็น เหงื่อไม่ออก ตัวไม่เหนียว สกปรกหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เป็นอันรู้กันดีว่าผู้คนในเมืองหนาวบางประเทศไม่นิยมอาบน้ำบ่อย เนื่องจากทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ความชื้นจนผิวแห้ง
ในภาษาของนักออกแบบอาคารแนวอนุรักษ์พลังงาน เรียกสภาวะการอยู่อาศัยในอุณหภูมิและความชื้นที่พอเหมาะว่า ภาวะน่าสบาย ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิประมาณ 24-25 องศาเซลเซียส เป็นตัวเลขที่เราคุ้นๆกันดีเวลาเปิดแอร์ในกระแสเบอร์ห้า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้ประหยัดค่าไฟได้สูงสุด แต่สิ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกไม่สบายตัวเวลาอากาศร้อนอบอ้าวไม่ใช่เพียงเพราะอุณหภูมิที่สูง เป็นเพราะความชื้นในอากาศที่มีมากจนทำให้ตัวเหนียวเหนอะหนะ โดยปกติถ้าเราอยู่ในที่มีลมพัดอากาศถ่ายเทดี ความชื้นในอากาศไม่มาก เหงื่อออกน้อยหรือไม่ออกเลย เราก็จะรู้สึกเย็นสบายสดชื่น หน้าที่โดยหลักการของแอร์ก็คือดูดความชื้นในห้องออกไป สร้างลมเย็นเข้ามาปรับอุณหภูมิและความชื้นภายใน แล้วพ่นความร้อนออกไปข้างนอก
การอยู่บ้านให้เย็นๆโดยไม่เปิดแอร์ในเมืองร้อนสำหรับยุคนี้ออกจะดูเป็นเรื่องฝัน ถ้าเริ่มต้นกันที่การสร้างบ้านแบบร้อนๆ โดยการเลือกออกแบบบ้านสไตล์เมืองหนาว ที่เห็นได้จากโครงการบ้านจัดสรรทั่วไป ก็จะขัดกับหลักการออกแบบบ้านสำหรับเมืองร้อนโดยสิ้นเชิง
การที่บ้านจะร้อนหรือเย็นขึ้นอยู่กับ
- ทำเลเป็นอันดับแรก พูดขำๆก็คือถ้าไปเลือกทำเลปลูกบ้านแถวขั้วโลกเหนือย่อมได้บ้านเย็นกว่าอยู่แถวเขตเส้นศูนย์สูตรอย่างแน่นอน แต่การย้ายบ้านข้ามทวีปก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่เอิกเกริกเกินไป เอาแค่ย้ายจากสำโรงมาอยู่เพลินจิตชิดลมก็หืดขึ้นคอแล้ว การเลือกทำเลที่ปลูกบ้านแล้วน่าจะเย็นคือย่านชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรและที่อยู่อาศัยไม่สูงนัก และมีพื้นที่สีเขียวอยู่มาก เช่นต่างจังหวัด หรือชานเมือง
- ขนาดของพื้นที่ดิน ถ้ามีพื้นที่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน ไม่ต้องรับแสงแดดจัดในเวลากลางวัน
- การหันทิศทาง Orientation ของอาคารให้หลบแดดในช่วงร้อน
- การเจาะหน้าต่างช่องเปิดรับลมให้มากพอสมควรในแนวเหนือใต้ซึ่งเป็นทิศทางลม ก็จะช่วยให้บ้านไม่ต้องสัมผัสความร้อนมากนัก และระบายความชื้นได้ดี ทำให้เข้าใกล้ภาวะน่าสบายมากขึ้นโดยไม่ต้องเปิดแอร์
- ในการออกแบบตัวอาคารเพื่อป้องกันความร้อนเข้าบ้าน เริ่มตั้งแต่รูปทรงแผนผังของอาคาร ถ้ามอง Perimeter เส้นรอบรูปอาคารในแปลน ควรให้ผนังด้านที่โดนแดดเยอะๆคือทิศใต้และทิศตะวันตกเป็นด้านแคบของบ้าน และผนังด้านที่หันขวางรับลมเป็นด้านกว้าง ให้พื้นผิวอาคารโดนแดดน้อยที่สุด
- การปลูกต้นไม้บัง หรือการทำชายคายื่นบังแดด
- ติดตั้งฉนวนกันความร้อนในส่วนหลังคา
- มีการออกแบบผนังกันความร้อน ซึ่งสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำที่ตรงกับความต้องการและงบประมาณของเจ้าบ้านว่าควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนในผนัง ควรทำผนังสองชั้น \ใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อนหรือป้องกันความร้อนมาทำเป็นผนัง
- ออกแบบผังภายในห้องต่างๆของบ้านให้มีระบบระบายอากาศที่ดี
- การระบายความร้อนออกจากบ้านนั้น ถ้าไม่ได้ติดแอร์ ก็ต้องใช้วิธีธรรมชาติซึ่งอาศัยการออกแบบเป็นหลักคือ การทำช่องเปิดรับลมเข้า และช่องระบายความร้อนออก โดยอาศัยหลักการว่าอากาศเย็นจะไหลเข้ามาด้านล่างและอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง เมื่อความร้อนลอยออกไปก็จะดูดอากาศเย็นจากภายนอกเข้ามาแทนที่ การเคลื่อนที่ของอากาศทำให้เกิดลม มีการระบายอากาศและความชื้นออกจากอาคาร คนอยู่ในบ้านจึงรู้สึกเย็น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทำเลและบริเวณโดยรอบของบ้านด้วยว่าอยู่ในจุดที่มีอากาศเย็น หรือมีความชื้นพอดีหรือไม่ เช่น อยู่ใต้ร่มไม้ อยู่ในสวน โอกาสที่ลมซึ่งไหลเข้าบ้านจะเป็นลมเย็นก็มีมากกว่าบ้านที่อยู่ในทำเลร้อนๆ เพราะการเกิดลมนั้นมาจากความต่างของอุณหภูมิและความกดอากาศ ถ้ารอบๆบริเวณบ้านร้อนไปหมดก็ยากที่บ้านจะเย็นได้โดยไม่ต้องเปิดแอร์
บ้านที่ออกแบบด้วยแนวคิดไทย ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านทรงไทย แต่เป็นอาคารที่ตอบสนองภูมิประเทศและภูมิอากาศร้อนชื้นได้ดี รวมถึงสามารถรองรับวิถีชีวิตร่วมสมัยที่มีความผสมผสานกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
……………
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com