วิศวลาดกระบัง เปิดตัวไซร่า (CIRA) หุ่นยนต์ช็อปปิ้งเพื่อผู้พิการตัวแรกของไทย

1.ภาพหมู่เปิดตัวหุ่นยนต์ไซร่า-(Small)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) สะท้อนพลังอันยิ่งใหญ่ในความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เราเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์สุดล้ำ หลายร้อยปี “หุ่นยนต์ ” ได้กำเนิดจากความคิดฝันและจินตนาการของมนุษย์  และกลายมาเป็นประดิษฐกรรมซึ่งได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงยุคดิจิตอลในวันนี้ หุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจอุตสาหกรรม, สุขภาพ, ทางครัวเรือนและทางด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ในไลน์การผลิต, หุ่นยนต์สำรวจ, หุ่นยนต์ทางการแพทย์, หุ่นยนต์กู้ภัย หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัวนวัตกรรมสุดล้ำ ไซร่า (CIRA ) หุ่นยนต์ช็อปปิ้งช่วยเหลือผู้พิการในซุปเปอร์มาร์เก็ตครั้งแรกของไทย

ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า “ปัจจุบันหุ่นยนต์สามารถเข้ามาช่วยจัดสรรการทำงานของมนุษย์ให้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น เช่น ร้านอาหารในประเทศญี่ปุ่นและในแถบยุโรป ได้นำนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบการทำงานแบบออโตเมติกมาประยุกต์ใช้เพื่อบริการลูกค้าภายในร้านมีประสิทธิภาพรวดเร็ว ในขณะที่โลกเทคโนโลยีก้าวไกลไปสู่อนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีจากโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไปเป็นสังคมประชากรสูงวัยปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนเกือบ 10 ล้านคนในประเทศไทย  ผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางแขนขามีรวมกว่า 2 ล้านคน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญและนวัตกรมาร่วมกันสร้างสรรค์ คิดค้นเป็นประดิษฐกรรมที่โดดเด่นครั้งแรกในประเทศไทย คือ หุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) หุ่นยนต์ช่วยช็อปปิ้งสำหรับผู้พิการและผู้สูงวัยในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งปัจจุบันซุปเปอร์มาเก็ตขยายตัวไปทุกเมือง รวมกว่า 10,000 แห่ง หุ่นยนต์ไซร่าจะช่วยเพื่อนมนุษย์ผู้พิการและผู้สูงวัยได้อย่างดี”

4.IMG_6215-(Small)

หุ่นยนต์ ไซร่า (CIRA) เป็นผลงานของศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ไซร่าและระบบอัตโนมัติ (CIRA- Center of Integrated Robotics and Automation) โดยทีมนักวิจัย ดร.รัชนี กุลยานนท์ ,ดร.ดอน  อิศรากร, อ.สองเมือง นันทขว้าง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมการวัดและควบคุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.และ ผศ.ธีระ ศิริธีรากุล คณะวิทยาศาสตร์ สจล.

ดร.รัชนี กุลยานนท์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “ในปัจจุบันการไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ผู้บริโภคนิยมไปซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน คนทำงาน หรือแม้กระทั่งผู้พิการไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางแขนขาหรือทางสายตา หุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประหยัดเวลาในการจับจ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้พิการที่ยากลำบากมากและใช้เวลาในการซื้อของนานกว่าคนปกติหรืออาจจะทำไม่ได้เลย นอกจากนี้ คนพิการบางประเภท เช่น คนตาบอด จะไม่สามารถแยกแยะสินค้าที่มีการบรรจุกล่องลักษณะเหมือนๆกันออกได้ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้พิการลำบากขึ้น เหตุนี้เองจึงทำให้เกิดแรงจูงใจที่อยากจะช่วยให้ชีวิตของผู้พิการในการจับจ่ายใช้สอยหาซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านด้วยตนเอง สะดวกสบายและมีความสุขในชีวิตมากขึ้น”

สำหรับประโยชน์และวัตถุประสงค์ในการสร้างหุ่นยนต์ ไซร่า (CIRA) คือ 1. เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้พิการ เช่น ตาบอด หรือผู้พิการแขนขา สามารถเลือกซื้อสินค้าได้เองและมีคุณภาพชีวิตจิตใจแจ่มใส, 2.เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและช่วยประหยัดเวลาให้กับกลุ่มคนทำงาน กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่ไม่มีเวลาในการจับจ่ายซื้อของมากนักและยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตครอบครัวให้มีเวลาไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆมากขึ้น, 3.เพื่อลดจำนวนการจ้างแรงงานที่กำลังขาดแคลนในร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต และ 4. เพื่อส่งเสริมให้ระบบบริการและการชำระเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3.IMG_6206-(Small)

ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) สามารถทำงานได้ 2 โหมดให้เลือก คือ ด้วยเสียงและระบบสัมผัส โดยการทำงานด้วยเสียงนั้นใช้ Windows Speech Recognition  ส่วนระบบสัมผัส ใช้จอแบบ Touch Screen  สำหรับการใช้งานนั้นสามารถเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่ง

อ.สองเมือง นันทขว้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า หุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียม ฟอสเฟต เอโฟร์ ( LiFe04) สามารถจำและหยิบของที่อยู่ที่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้โดยการบันทึกข้อมูลสินค้าทั้งหมดไว้ใน Data base ว่าสินค้ายี่ห้อไหนวางอยู่ที่ตำแหน่งใด หุ่นยนต์จะสามารถเดินไปยังจุดที่วางสินค้าได้ตามที่ต้องการ เมื่อไปถึงตำแหน่งแล้ว ก่อนการหยิบสินค้า จะใช้กล้องตรวจสอบรายละเอียดสินค้าอีกครั้งว่าคือสินค้าที่ต้องการหรือไม่ การใช้ Database ในลักษณะนี้ทำให้ทางร้านสามารถตรวจสอบ Stock ของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วยเมื่อหยิบสินค้าแล้วจะนำลงตระกร้าซึ่งรับน้ำหนักได้รวม 180 กิโลกรัม

ลักษณะของมือหุ่นยนต์ไซร่า (CIRA) ในการหยิบของจะเป็นลักษณะเป็นแบบหนีบที่ใช้ปั๊มลม เนื่องจากทำให้สามารถควบคุมแรงได้ อีกทั้งสามารถควบคุมการบีบตามทรวดทรงสินค้าได้หลายรูปทรง ไซร่าสามารถจับสินค้าที่มีด้านกว้างได้ไม่เกิน 10 ซม.และน้ำหนักไม่เกิน 3 กก. สำหรับหุ่นยนต์ CIRA นั้นมีราคาประมาณ 6 แสนบาท

PR AGENCY  : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
ประภาพรรณ 081-899-3599,086-341-6567 ,02-911-3282  brainasiapr@hotmail.com

Sajeerat Putruengsak

ศจีรัตน์ พุฒเรืองศักดิ์ (ลูกท้อ) จบศึกษาในระดับปริญญานิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต (นศม.) ภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการ/นักเขียน ที่มีประสบการณ์ในด้านสื่อสารมวลชนทั้งในฐานะสื่อมวลชนระดับมืออาชีพ สำหรับสื่อแนวไลฟ์สไตล์ สื่อศิลปะการออกแบบ และงานตำแหน่งบริหารในสายธุรกิจแวดวงบันเทิง รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างๆ อาทิ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, สาขาวิทยุโทรทัศน์และวารสารศาสตร์ โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ สาขาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

You may also like...