สวนไม้ดอกหอม

prayong

ถ้าพูดถึงกลิ่นหอมจรุงใจจากไม้ดอกหอมในสวนแบบไทยๆ ของเราแล้ว หลายคนคงนึกไปถึงวรรณคดีไทยมากมายหลายเรื่อง ซึ่งเอ่ยถึงกลิ่นดอกไม้ที่จะส่งกลิ่นหอมประจำแต่ละช่วงเวลาของวัน ตั้งแต่ เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ จนย่ำดึก แม้แต่ในบทเพลงก็มีการร้อยเรียงชื่อของดอกไม้เอาไว้ด้วยกันอย่างไพเราะ เช่น อุทยานดอกไม้ เป็นเพลงลูกกรุงของไทยที่ผู้หลักผู้ใหญ่คงจะเคยคุ้นกันอยู่บ้างนั้นมีเนื้อหากล่าวถึงพรรณไม้ดอกมากถึง 51 ชนิด

ชม ผกา จำปา จำปี

กุหลาบ ราตรี พะยอม อังกาบ ทั้ง กรรณิการ์

ลำดวน นมแมว ซ่อนกลิ่น ยี่โถ ชงโค มณฑา

สายหยุด เฟื่องฟ้า ชบา และ สร้อยทอง

 

บานบุรี ยี่สุ่น ขจร

ประดู่ พุดซ้อน พลับพลึง หงอนไก่ พิกุล ควรปอง

งาม ทานตะวัน รักเร่ กาหลง ประยงค์ พวงทอง

บานชื่น สุขสอง พุทธชาด สะอาดแซม

 

พิศ พวงชมพู กระดังงา เลื้อยเคียงคู่ ดูสุดสวย แฉล้ม

รสสุคนธ์ บุญนาค นางแย้ม สารภี ที่ถูกใจ

 

งาม อุบล ปน จันทน์กะพ้อ

ผีเสื้อ แตกกอ พร้อม เล็บมือนาง พุดตาน กล้วยไม้

ดาวเรือง อัญชัน ยี่หุบ มะลิวัลย์ แลวิไล

ชูช่อไสว เร้าใจในอุทยาน

 

บทเพลงนี้มีความน่าทึ่งตรงที่สามารถผสานชื่อดอกไม้ไทยให้สามารถจดจำได้อย่างกลมกล่อมน่าฟัง เด็กรุ่นใหม่ก็อาจนำมาเป็นแนวทางในการทำความรู้จักกับดอกไม้ได้ไม่ยาก เพราะดอกไม้นั้นไม่ได้มีแค่ไว้ประดับสวนให้สวยและหอม บางชนิดยังมีสรรคุณทางยาอีกด้วย บางชนิดก็สกัดกลิ่นมาใช้ทำน้ำหอม น้ำปรุง หรือแต่งกลิ่นอาหาร ด้วยเหตุนี้ดอกไม้หอมของไทยจึงมีความผูกพันลึกซึ้งกับวิถีชีวิตของคนไทยเรามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ไม้ดอกหอมพื้นถิ่นโดยส่วนใหญ่นั้น มักเป็นดอกที่มีสีสันไม่สะดุดตา คนยุคใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ถึงคุณประโยชน์จึงอาจละเลยไม่ใส่ใจนำมาใช้แต่งสวน และหันไปสรรหาพันธุ์ดอกไม้ต่างถิ่นมาปลูกแทนตามสมัยนิยม ซึ่งการนำไม้ต่างถิ่นมาปลูกนั้นมักดูแลรักษายากกว่าไม้พื้นถิ่น อีกทั้งยังอาจนำพาโรคและแมลงต่างถิ่นเป็นของแถมเข้ามาในสวนบ้านเราด้วย นักจัดสวนที่มีประสบการณ์และมีรสนิยมจึงมักแนะนำเจ้าของบ้านให้เลือกใช้ไม้พื้นถิ่นในการตกแต่งสวน เพราะสามารถดูแลให้เติบโตตามสภาพอากาศบ้านเราได้ง่ายกว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และหากเจ้าของสวนมีความรู้เกี่ยวกับสรรพคุณต่างๆของดอกไม้ที่ปลูกด้วยแล้ว ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากดอกไม้พื้นถิ่นในสวนของเราได้มากมายไม่ว่าจะใช้ประดับตกแต่งและร้อยเครื่องบูชาอย่าง มะลิ จำปี จำปา  พิกุล พุทธชาด ใช้ทำเครื่องสำอางและเครื่องหอม เช่น กุหลาบ กระดังงา ชำมะนาด ใช้ปรุงแต่งอาหาร เช่น อัญชัน ดอกขจร ใช้ปรุงยาสมุนไพร เช่น ปีบ พะยอม สารถี คัดเค้า นอกจากนี้ ทรงต้นและใบที่สวยงามของไม้ดอกหอมหลายชนิดก็สวยงามเหมาะแก่การปลูกประดับ เช่น แก้ว มะลิ โศก พุดซ้อน ประยงค์  ซึ่งนิยมปลูกประดับให้ส่งกลิ่นหอมตามระเบียงบ้านชานเรือน หรือใช้ปลูกเป็นแนวรั้ว เช่น ราตรี โมก ซ่อนกลิ่น กุหลาบ รวมไปถึงไม้ดอกหอมที่นิยมปลูกกันในสวนสาธารณะก็เช่น กันเกรา ประดู่ ลำดวน สารภี เป็นต้น

การจัดสวนไม้ดอกหอมก็มีหลักการพื้นฐานไม่ต่างกับการทำสวนทั่วไป คือ มีการกำหนดเค้าโครงของการออกแบบตามประเภทและขนาดของต้นไม้ โดยแบ่งเป็น ไม้หลัก ไม้พุ่มสูง ไม้พุ่มเตี้ย ไม้คลุมดิน ไม้เลื้อย ไม้อิงอาศัย และไม้แขวน และยิ่งเราตัดสินใจใช้ไม้พื้นถิ่น ก็จะดูแลรักษาง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเป็นไม้ที่เหมาะกับสภาพอากาศและสภาพดินบ้านเราอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นพิเศษคือตำแหน่งที่ตั้งของการปลูก ทิศทางลม และเวลาของการใช้พื้นที่ เพราะดอกไม้แต่ละชนิดจะมีช่วงเวลาส่งกลิ่นหอมแตกต่างกันออกไป จึงต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของพันธุ์ไม้ที่เลือก และลักษณะการใช้พื้นที่ รวมถึงรสนิยมและความชอบให้สอดคล้องกัน นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า เกสรหรือกลิ่นไม้ดอกหอมบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการแพ้สำหรับบางคน จึงต้องเลือกให้เหมาะกับความชอบและสุขภาพของผู้อยู่อาศัยด้วย

แม้ว่าไม้ดอกหอมของไทยส่วนมากจะมีหน้าตาไม่สวยเด่น แต่คนรักดอกไม้หอมต่างรู้ดีว่า เสน่ห์ของการปลูกไม้ดอกหอมคือการได้สัมผัสกับกลิ่นอายของธรรมชาติที่หอมจรุงใจในเวลาต่างๆ กัน และอารมณ์ละมุนละไมที่ซึมซาบมาให้เรารื่นรมย์กับความผันแปรอันไม่เคยหยุดนิ่งตามวัฎจักรแห่งฤดูกาล  เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยสิ้นสุดของชีวิตคนเรานั่นเอง

Buttercup Garden

Buttercup Garden เป็นนามปากกาของนักออกแบบจากรั้วจามจุรี ที่หลงรักช่วงเวลาดีๆในสวน และมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และไอเดียเกี่ยวกับสวน เพื่่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ปรารถนาความรื่นรมย์ในโลกสีเขียว และการจัดสวนสวยในบ้านด้วยตัวเอง

You may also like...