ห้องทำงาน (ตอนที่ 2)

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยปลดปล่อยชีวิตผู้คนในชาติให้หลุดพ้นจากระบบไพร่ ผู้คนมีสิทธิ์ในชีวิตและแรงงานของตนเอง มีสิทธิ์ขายความรู้ความสามารถและแรงงานเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างในการดำรงชีพ แต่ด้วยความไม่คุ้นชินกับสิทธิและเสรีภาพ ชนชั้นแรงงานจึงยังคงต้องตกอยู่ในภาวะเบี้ยล่าง โดยเปลี่ยนจากการตกอยู่ใต้อำนาจบรรดาศักดิ์มาอยู่ใต้อำนาจทุน คำว่ามาตรฐานคุณภาพชีวิตยังเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักและไม่เข้าใจในยุคแรกๆ การออกจากบ้านมาทำงานในสำนักงานวันละ 8-9 ชั่วโมงของผู้คน โดยไม่มีการคำนึงถึงสิทธิ์ในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้ชั่วโมงทำงานของคนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากสถานที่ปฏิบัติงานอาจมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจนกลายเป็นสิ่งบั่นทอนสุขภาพทั้งกายใจ จนกระทั่งมีการศึกษาสาขาวิชาการออกแบบสถาปัตยกรรมขึ้นในประเทศไทย เริ่มแรกเปิดการเรียนการสอนตามหลักวิชาการตะวันตก ซึ่งนำมาสู่การคำนึงถึงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนหมู่มากอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกเหนือจากเดิมที่เน้นการออกแบบเพื่อชนชั้นสูงก็มีการออกแบบสร้างอาคารสำหรับคนทั่วไป และพัฒนาต่อเนื่องมาเรื่อยๆ พร้อมกับการพัฒนาด้านการศึกษาที่กระจายไปสู่คนหมู่มากในยุคหลังๆ ผู้คนค่อยๆเรียนรู้ในสิทธิของตน รวมถึงเริ่มตระหนักได้ว่า เวลาในการทำงานนั้นคือเวลาเกือบครึ่งหนึ่งหรืออาจจะมากกว่าครึ่งหนึ่งของเวลาที่คนเราลืมตาตื่นในแต่ละวัน จึงเกิดการตั้งคำถามถึงสิทธิการทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีการออกกEหมายควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสำนักงานหรือออฟฟิศเป็นอาคารประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะให้ถูกต้องตามหลักการใช้งาน มีความสะดวกสบายและความปลอดภัย แต่กระนั้น ก็ยังมีออฟฟิศอีกมากมายที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้ถูกหลักมาตรฐาน ซึ่งภาวะกลัวตกงานมีความสำคัญมากกว่าการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คนทำงานส่วนใหญ่จึงไม่หยิบยกปัญหานี้มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาเลือกสถานที่ทำงาน

ลักษณะเบื้องต้นของออฟฟิศที่ดีก็คล้ายๆกับอาคารที่ดีโดยทั่วไป อย่างแรกคือต้องอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับประเภทของงานนั้นๆ มีความสะดวกคล่องตัวในการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมเข้าออก มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆที่จำเป็น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในปัจจุบันคือควรมีพื้นที่จอดรถเพียงพอกับจำนวนผู้ใช้งานและผู้ที่มาติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่ออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสำนักงานโดยเฉพาะหรือการดัดแปลงจากอาคารประเภทอื่น มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรองรับการใช้สอยได้เต็มที่ตามลักษณะงาน มีขนาดและคุณภาพของพื้นที่ใช้สอยเพียงพอกับจำนวนผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งค่ามาตรฐานขั้นต่ำสำหรับควบคุมการออกแบบอาคารให้ได้คุณภาพเหมาะสมนี้ จะมีกำหนดไว้ในเทศบัญญัติหรือกฎหมายควบคุมอาคาร ยกตัวอย่างเช่น กำหนดระยะดิ่ง ระหว่างพื้นถึงเพดานของอาคารสำนักงานไม่ให้น้อยกว่า 2.40 เมตร สำหรับอาคารที่ติดเครื่องปรับอากาศ หรือไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร สำหรับอาคารที่ไม่ติดเครื่องปรับอากาศ การทำประตูสำหรับอาคารสาธารณะ หรืออาคารพาณิชย์ ถ้ามีธรณีประตูต้องเรียบเสมอกับพื้น บันไดสำหรับอาคารสาธารณะหรืออาคารพาณิชย์ ต้องทำขนาดไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร อาคารที่มีบันไดติดต่อกันตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไป พื้น ประตู หน้าต่าง วงกบ ของห้องบันได บันได และสิ่งก่อสร้างโดยรอบบันได ต้องก่อสร้างด้วยวัตถุทนไฟ หรือถ้าสำนักงานเป็นอาคารสูงเกินกว่า 4 ชั้น มีลิฟท์สำหรับบุคคลใช้สอย ให้ทำได้แต่ในอาคารซึ่งประกอบด้วยวัตถุทนไฟเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปลอดภัยของลิฟท์ต้องมีอยู่ไม่น้อยกว่าสี่เท่าของน้ำหนักที่กำหนดให้ อาคารที่ปลูกสร้างสูงเกินเจ็ดชั้น ให้มีพื้นที่ดาดฟ้าเพื่อใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศตามสภาพที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดที่ควบคุมให้อาคารมีความถูกสุขลักษณะ คือมีการระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างที่เพียงพอ เช่น กำหนดให้อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารสาธารณะซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่พักอาศัย ต้องมีที่ว่างอยู่ใน 10 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ แต่ถ้าใช้เป็นที่พักอาศัยด้วยให้มีที่ว่างอยู่ 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ อาคารประเภทห้องแถว ตึกแถว และอาคารพาณิชย์ ต้องมีช่องหน้าต่างหรือประตูเปิดสู่ภายนอกได้ไม่น้อยกว่า 20 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่อาคารทุกชั้น ห้องส้วมต้องมีขนาดเนื้อที่ภายในไม่น้อยกว่า 0.90 ตารางเมตร และต้องมีความกว้างภายในไม่น้อยกว่า 0.90 เมตร รักษาความสะอาดได้ง่าย และต้องมีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศ ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

เห็นได้ว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกแบบอาคารสำนักงานให้ดีมีคุณภาพที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปซึ่งไม่อยู่ในสายงานการออกแบบไม่คุ้นเคย จึงเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบและเจ้าของอาคารที่จะดูแลให้เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง เนื่องจากรูปแบบของสำนักงานสำหรับงานต่างประเภทมีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังแตกต่างทั้งในด้านประเภทและขนาดของอาคาร โดยผู้คนที่เป็นแรงงานหรือพนักงานในสำนักงานนั้นไม่มีสิทธิ์ในการเลือกลักษณะหรือประเภทของอาคารตามที่ตัวเองอยากทำงานมากนัก การออกแบบผังภายในจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตในชั่วโมงทำงาน และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้คนในสำนักงาน โดยทั่วไปจะมีหลักการพิจารณาดังนี้คือ

สายทางเดินของงาน ( Workflow ) การกระจายความคล่องตัว ง่ายและเหมาะสมในการทำงาน มีลำดับและขั้นตอนของงานต่อเนื่อง การควบคุมดูแล ( Supervision ) โดยการจัดวางแผนผังการทำงานควรที่จะอยู่ในระดับที่ผู้บริการสามารถมองเห็นได้ตลอด โดยผู้บริหารอาจจะอยู่หลังสุด เพื่อที่จะสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง การจัดการการใช้พื้นที่ในสำนักงาน ( Floor Space ) โดยการใช้อย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดการสูญเปล่า โดยจัดการอุปกรณ์ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด

การจัดการพื้นที่ในการทำงาน ( Working Space ) โดยคำนึงถึงความต้องการ และความสะดวกสบายในการทำงาน มีการจัดการช่องว่างระหว่างโต๊ะและช่องทางเดินที่เหมาะสม ( Gangways )โดยการกำหนดช่องทางเดินหลักประมาณ 4- 5 ฟุต เส้นทางเดินย่อยประมาณ 3-4 ฟุต เป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและเครื่องมือเครื่องใช้ ( Proximity of workers and Equipment )เป็นการจัดวางอุปกรณ์ที่จะใช้บ่อยให้อยู่ใกล้ๆ หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น และการจัดการเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีเสียงรบกวน ( Noisy Machines) ออกไปเป็นสัดส่วน และมีการจัดวางที่เหมาะสมไม่ก่อเกิดการรบกวนการทำงานของแผนกงานอื่น การใช้แสงสว่างตามธรรมชาติ ( Natural Light ) โดยพยายามที่จะใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้ได้มากกว่าการใช้แสงไฟนิออน ความเป็นส่วนตัว ( Privacy ) ในการจัดการแผนผังควรคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว ช่วยทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ และสมาธิในการทำงาน บรรยากาศ ( Appearance ) เพราะการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีมีส่วนในการช่วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

เมื่อกล่าวมาถึงตอนนี้ คนทำงานหลายคนคงจะหันไปรอบๆ พิจารณาว่าออฟฟิศของเรานั้นมีลักษณะต้องตามเกณฑ์ของออฟฟิศที่ดีหรือเปล่า ถ้ายังไม่ดีก็สามารถแก้ให้ดีขึ้นได้ในส่วนใกล้ตัว ซึ่งเป็นส่วนที่เล็กที่สุดแต่มีผลไม่น้อย ก็คือการสร้างบรรยากาศที่ดีบนโต๊ะทำงาน ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไปค่ะ : )

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...