ชีวิตในบ้านแถว

คนไทยจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในบ้านตึกแถว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอาคารพาณิชย์หรือทาวน์เฮ้าส์ก็จะหมายถึงอาคารประเภทที่สร้างต่อกันเป็นแถวในแนวราบ อาคารทาวน์เฮ้าส์นี้เป็นภาษาราชการเรียกว่า “บ้านแถว”

กฎหมายกำหนดให้ทาวน์เฮ้าส์ต้องมีขนาดที่ดินไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา มีขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ลึก 16 เมตร ทาวน์เฮ้าส์ที่มีราคาถูกที่สุดมักเป็นทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียว แต่โดยทั่วไปทาวน์เฮ้าส์จะมีความสูง 2 ชั้น สำหรับทาวน์เฮ้าส์ราคาแพงๆ ในย่านใจกลางเมืองนั้น อาจมีการสร้างสูงถึง 3-4 ชั้น

จุดเริ่มต้นของบ้านแถวมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานบันทึกเอาไว้แน่ชัด แต่มีปรากฎหลักฐานของตึกแถวยุคแรกๆในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่า ‘แถวเต๊ง’ ซึ่งเป็นที่อยู่ของกุลีชาวจีนอยู่รวมกันเป็นชุมชน เป็นทั้งแหล่งพักอาศัยและทำค้าขาย จะเรียกว่าเป็นโฮมออฟฟิศรุ่นโบราณก็คงได้ แต่ลักษณะของการอยู่บ้านตึกหรือบ้านแถวในสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยถูกจริตกับคนไทยนัก โดยเฉพาะบ้านที่มีสองชั้น เนื่องจากคนไทยเราถือเรื่องหัวว่าเป็นของสูง จะให้ใครขึ้นไปขย่มอยู่บนชั้นสองของบ้านหรืออยู่เหนือหัวตัวเองก็รู้สึกว่าไม่เป็นสิริมงคล การอยู่เต๊งจึงถูกมองด้วยสายตาดูถูกนิดๆว่าค่อนข้างจะโลโซ เพราะคนไทยแต่ก่อนดูถูกคนจีนว่าเป็นพวกยากจนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาอาศัยหากินในผืนแผ่นดินไทย แม้ว่าคนจีนตั้งเยอะแยะจะขยันทำมาค้าขายจนร่ำรวยกลายเป็นเจ้าสัวอยู่คฤหาสน์หลังใหญ่ การมองบ้านแถวของคนจีนด้วยสายตาดูแคลนก็ยังคงอยู่มานาน

จนกระทั่งถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้ามามีอิทธิพลทางธุรกิจในสยามเป็นจำนวนมาก หลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ชาวตะวันตกที่เข้ามาทำค้าขายก็มาสร้างตึกแถวหน้าตาแบบฝรั่งเกิดขึ้นมากมายในย่านที่อาจเรียกได้ว่าเป็นดาวน์ทาวน์ของสมัยก่อน เกิดเป็นห้างร้านที่มีชื่อเสียงต่างๆให้คนไทยเข้าไปจับจ่ายใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย คนที่ซื้อของจากห้างฝรั่งในยุคก่อนเป็นคนชั้นสูง เพราะเชื่อกันว่าของฝรั่งนำเข้าเป็นสินค้ามีคุณภาพ มีราคาแพงกว่าของไทยหรือของจีน ลูกค้าของห้างฝรั่งจึงมีแต่คหบดี เชื้อพระวงศ์ พวกชาวบ้านก็ช้อปปิ้งกันตามตลาดนัด คนไทยที่เรียนจบมาสามารถพิมพ์ดีดได้และใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็จะได้ไปทำงานเป็นเสมียนห้าง ถือว่าเป็นงานที่มีระดับในสังคม แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของชาวตะวันตกนั้นมากกว่าชาวจีน ทั้งในด้านการฑูต การทหาร การค้า และวัฒนธรรม

ชาวตะวันตกเข้ามาพร้อมกับการกดขี่วัฒนธรรมไทยและจีน โดยสร้างค่านิยมหลอกคนไทยว่าการใช้ชีวิตแบบคนตะวันตก การแต่งกายและการกินอยู่แบบตะวันตกเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ อิทธิพลเหล่านี้ทำให้หลวงต้องตัดถนนขึ้นในย่านที่ชาวตะวันตกอาศัยกันอยู่มาก เพื่อให้พวกฝรั่งได้รับความสะดวกในการสัญจร ได้นั่งรถม้าชูคอเล่นทำโก้อวดชาวไทย ในอีกแง่หนึ่งก็อ้างว่าเป็นการสร้างภาพบรรยากาศบ้านเมืองของไทยให้ดูคล้ายยุโรปเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นอารยประเทศ ในขณะที่คนไทยส่วนมากโดยเฉพาะคนกรุงในยุคนั้นยังสัญจรโดยทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ถนนไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่การสัญจรด้วยรถลากและรถม้าบนถนนรวมถึงการอยู่ตึกแถวแบบฝรั่งที่เป็นของคู่กัน กลายเป็นค่านิยมให้ผู้คนในสังคมมองว่าเป็นความเท่ที่ได้อยู่บ้านตึกริมถนนเหมือนพวกนายห้างฝรั่ง ด้วยแนวคิดเริ่มต้นลักษณะนี้ รูปแบบอาคารของตึกแถวแบบจีนกับแบบฝรั่งจึงแตกต่างกันในแง่ของความสวยงามหรูหรา ตึกแถวที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งจะมีการออกแบบและประดับประดามากกว่า แม้ว่าลักษณะอาคารและข้อจำกัดในการใช้สอยจะไม่แตกต่างกันมากนัก ค่านิยมชอบอยู่แบบฝรั่งนี้ยังคงดำเนินมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ประกอบกับคนไทยในยุคต่อๆมาก็มีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบฝรั่งมากขึ้น ทั้งในด้านการอยู่อาศัยในบ้านและการประกอบอาชีพ การเลือกอยู่บ้านทาวน์เฮ้าส์บนพื้นที่ขนาดกะทัดรัดในเมืองใหญ่แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของการมีครอบครัวเดี่ยว ให้ความสำคัญกับสังคมการงานและการอุปโภค-บริโภคที่สะดวกสบายมากกว่าการให้ความสำคัญกับสังคมเครือญาติอย่างในอดีต

ข้อดีของบ้านแถวคือการอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการประกอบอาชีพ ด้วยขนาดพื้นที่กะทัดรัดทำให้สามารถใช้ปลูกสร้างได้บนเนื้อที่ดินราคาแพงๆ ได้อยู่ในย่านที่มีความพร้อมทั้งสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ แต่ข้อจำกัดของบ้านแถวก็คือการใช้ส่วนโครงสร้างอาคารและผนังร่วมกันกับเพื่อนบ้านข้างเคียง จึงลดทอนความเป็นส่วนตัวและอิสระในการแก้ไขต่อเติมรูปแบบอาคาร ไม่สามารถมีบริเวณกว้างๆภายนอกสำหรับทำเป็นสวนหรือสนามหญ้า มีพื้นที่จอดรถค่อนข้างจำกัด ตัวอาคารจะมีหน้าต่างได้เฉพาะด้านหน้าและด้านหลัง การระบายอากาศจึงต้องอาศัยการติดแอร์เป็นหลัก ซึ่งบ้านที่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลานั้นต้องรับภาระค่าไฟจำนวนมาก และปริมาณความร้อนที่เครื่องปรับอากาศคายออกมาสู่บรรยากาศภายนอกก็จะเป็นผลเสียต่ออุณหภูมิของสภาพแวดล้อมโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยหลักการแล้ว บ้านแถวหรือทาวน์เฮาส์จะเหมาะกับชีวิตเมือง แต่ด้วยราคาที่ถูกกว่าบ้านเดี่ยว การออกแบบก่อสร้างที่ง่ายไม่ซับซ้อน จึงมีการสร้างตึกแถว-บ้านแถวขายกันทั่วไป แม้แต่ในชนบทหรือย่านชานเมืองที่น่าจะสร้างบ้านเดี่ยว ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเปลี่ยนไป ที่เห็นได้ชัดคือการใช้เวลาว่างในวันหยุดและการพักผ่อนของคนในบ้านแถวมักจะเป็นกิจกรรมที่ต้องออกไปทำนอกบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไปเดินห้าง ไปดูหนัง ไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะไม่มีพื้นที่ภายในบ้านและไม่มีพื้นที่กลางแจ้งหรือบริเวณบ้านเพียงพอสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ไม่สะดวกในการชุมนุมสังสรรค์กับญาติมิตร

ราคาของบ้านแถวขึ้นกับทำเลและขนาดพื้นที่ก่อสร้าง ในปัจจุบันมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการได้ทดลองทำบ้านแถวที่โฆษณาว่าสุดหรูในย่านทำเลทอง ตั้งราคาขายในหลักสิบล้านก็มีคนซื้อหมดในระยะเวลาไม่นาน อาจจะเป็นราคาเดียวกับคฤหาสน์หลังใหญ่ในสวนสวยชานเมือง การที่คนใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อทาวน์เฮาส์หลังเล็กแทนที่จะซื้อบ้านเดี่ยว แสดงให้เห็นว่า นิยามของคุณภาพชีวิตหรือการมีชีวิตที่ดีของคนในยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก และความอยากจะเป็นฝรั่งของคนไทยเราก็ไม่เคยลดลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าร้อยปี

……………..
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...