หาสถาปนิกที่ไหน…จ้างกันยังไง

คงมีคนไม่น้อยที่ได้ยินเรื่องร้ายๆเกี่ยวกับการซื้อบ้านจัดสรร นอกเหนือจากจะไม่ได้ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่แล้ว ยังต้องห่วงเรื่องคุณภาพการก่อสร้างที่ไม่แน่ใจว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า ยิ่งบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ฟังดูเหมือนน่าจะดีที่เราได้จ่ายเงินให้กับสินค้าซึ่งมองเห็นด้วยตาเป็นรูปเป็นร่าง

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เกิดคำถามว่า ถ้าเราไม่ได้ควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง บ้านที่มองดูภายนอกสวยๆนั่น ข้างในจะต๊ะติ๊งโหน่งขนาดไหน ถ้าขนาดโครงสร้างหรือวัสดุไม่ตรงตามสเปคจะเกิดอะไรกับอนาคตของบ้าน ถ้าได้บ้านสร้างไม่ดี โชคดีก็อาจจะแค่สีล่อน หลังคารั่ว ผนังร้าว โชคร้ายอาจจะถึงขั้นบ้านทรุด หรือบ้านพัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อแต่ประการใด

คนอีกส่วนหนึ่งจึงเลือกออกแบบและปลูกบ้านเอง บางคนลงมือทำเองแทบทุกกระบวนท่า ด้วยความชอบส่วนตัวและเพื่อความมั่นใจ โดยเริ่มจากการจ้างสถาปนิกมาเป็นผู้วาดฝันให้เกิดขึ้นบนแผ่นกระดาษ เจ้าของบ้านบางคนเก่งมาก เชื่อมั่นในตัวเองมากก็ออกแบบเอง จ้างสถาปนิกแค่มาเซ็นต์แบบ จ้างวิศวกรมาคำนวณแบบ จ้างผู้รับเหมามาตีราคาและก่อสร้างบ้าน ยื่นเสนอขอใบอนุญาตปลูกสร้างจากทางราชการ ซื้อวัสดุเอง คุมงานก่อสร้างเอง พอตัวบ้านเสร็จก็จ้างมัณฑนากรมาออกแบบตกแต่งภายใน ให้ภูมิสถาปนิกมาจัดสวน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของตัวเองมากที่สุด ซึ่งโดยหลักการแล้ว ขั้นตอนที่ว่ามานี้น่าจะเป็นกระบวนการในการปลูกบ้านตามใจผู้อยู่อย่างแท้จริง แต่ในทางปฏิบัติสำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่และไม่ใกล้เคียง เพราะมนุษย์ทุกประเภทที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างบ้านตามที่กล่าวมานั้นล้วนมีผลไม่มากก็น้อย ในการทำให้บ้านในฝันไม่เป็นไปตามฝัน

เริ่มต้นตั้งแต่สถาปนิกผู้ออกแบบ แค่จะหาสถาปนิกเก่งๆสักคนก็ไม่ง่ายเสียแล้ว คำถามพื้นๆคือจะไปหาสถาปนิกที่ไหน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาเป็นสถาปนิกที่มีความสามารถ มีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน หรือควรจะว่าจ้างบริษัทออกแบบใหญ่ชื่อดังๆ มีผลงานออกแบบโครงการมาแล้วมากมาย เพื่อให้ได้งานคุณภาพ เพราะถ้าจ้างสถาปนิกมือใหม่ หรือบริษัทเล็กๆ ผลงานย่อมมีน้อยกว่า โอกาสสั่งสมประสบการณ์อาจไม่เท่ากัน แต่ถ้าจ้างบริษัทใหญ่ ราคาค่าบริการมักสูงกว่าบริษัทเล็กหรือว่าจ้างสถาปนิกอิสระ แม้ว่าการคิดราคาค่าออกแบบจะมีมาตรฐานกำหนดไว้คร่าวๆว่าเป็นเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเท่านี้ของราคาค่าก่อสร้าง แนวโน้มราคาของบริษัทใหญ่ก็ยังสูงกว่าการจ้างบริษัทเล็กอยู่ดี และถ้าจะสร้างบ้านหลังเล็กๆราคาไม่กี่ล้าน สถาปนิกใหญ่ทำงานแล้วได้ค่าแบบไม่มากมาย เขาจะยินดีรับทำงานของเราไหม หรืออีกคำถามยอดฮิต คือ ทำไมสถาปนิกต้องคิดค่าจ้างขนาดนี้กับการทำงานบนกระดาษไม่กี่แผ่น วาดรูปบ้านดูเหมือนเป็นงานง่ายๆ เราก็เป็นคนมีหัวศิลป์ มีรสนิยมไม่เป็นรองใคร มาช่วยกันวาดแบบออกแบบบ้านเองเลยดีไหมจะได้ไม่ต้องเสียสตางค์ แล้วถ้าบอกให้สถาปนิกลองมาเขียนแบบบ้านให้ดูแล้วไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ขอไม่จ่ายเงินได้ไหม เพราะถือว่าเราไม่ได้ใช้ของที่เขาทำ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ฯลฯ

คำถามพื้นๆดังที่กล่าวมานี้ เป็นทั้งปัญหาของคนอยากมีบ้านและปัญหาของสถาปนิก เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจในวิชาชีพนี้อย่างแท้จริง กล่าวคือ งานออกแบบของสถาปนิกเป็นงานบริการวิชาชีพ ไม่ใช่งานขายแบบ ขายกระดาษ หรือขายโมเดลบ้าน การวัดคุณภาพงานบริการ นอกจากจะดูผลงานแล้วยังต้องดูความพึงพอใจของผู้ว่าจ้างด้วย จึงจะสรุปได้ว่าสถาปนิกคนไหนทำงานออกมาดี

วิธีการติดต่อหาสถาปนิก เพื่อมาทำงานออกแบบบ้านพักอาศัยส่วนบุคคล ไม่รวมถึงโครงการใหญ่ๆที่ต้องประกาศให้มีบริษัทต่างๆมาแข่งกันยื่นแบบประมูลราคา ส่วนหนึ่งในบ้านเรานิยมใช้ระบบคนรู้จัก เก่งไม่เก่งไม่ทราบ เอาเป็นว่ารู้จักกัน เป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นญาติห่างๆ จบมาทางสถาปัตย์ เขียนแบบบ้านเป็น เท่านี้ก็ดูเหมือนว่าน่าจะเรียกตัวมาช่วยวาดฝันให้ได้ ซึ่งยากที่จะคาดเดาคุณภาพผลงานและประเมินความสามารถ แต่โดยมากเจ้าของบ้านที่เลือกสถาปนิกด้วยวิธีนี้จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการออกแบบของสถาปนิกอย่างจริงๆจังๆ จะไปมุ่งให้ความสำคัญที่งานก่อสร้างมากกว่า เพราะเชื่อว่าวิศวกรหรือผู้รับเหมาเป็นทีมงานตัวจริงที่จะทำให้ได้เห็นบ้านออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ส่วนเจ้าของบ้านที่ใส่ใจกับการออกแบบ จะเลือกสถาปนิกจากตัวอย่างผลงานที่ปรากฏ คือหาดูจากงานออกแบบบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว หรือดูจากนิตยสารตกแต่งบ้าน หากชอบแบบไหนก็พลิกหาชื่อสถาปนิกได้เลย หรืออาจจะศึกษาข้อมูลบริษัทสถาปนิกจากสมาคมสถาปนิกสยาม แล้วติดต่อบริษัทที่สนใจ มีผลงานน่าเชื่อถือให้มานำเสนอตัวอย่างผลงานก่อนตกลงว่าจ้าง หรือถ้าชอบมากกว่าหนึ่งบริษัทก็จัดให้มีการประกวดแบบกัน ซึ่งในกรณีที่ต้องมีการประกวดแบบ มักจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่างานสูง ส่วนถ้าเป็นงานเล็กๆสถาปนิกรุ่นใหญ่บางคนก็อาจจะไม่รับงานในลักษณะนี้ ปล่อยให้เป็นเวทีของสถาปนิกรุ่นน้องๆไปแข่งขันกัน

การสร้างบ้านเป็นงานที่ต้องพิถีพิถันทุกขั้นตอนตั้งแต่จุดเริ่มต้น เช่นเดียวกับคำว่า ‘บ้าน’ เป็นคำที่ต้องเขียนด้วยความระมัดระวัง ลืมเขียน น.หนู ก็กลายเป็น บ้า ลืมเขียนไม้โท ก็กลายเป็น บาน ล้วนแต่เป็นคำที่ไม่เป็นสิริมงคลในการวางรากฐานให้ชีวิตทั้งสิ้น และการเลือกสถาปนิกเป็นก้าวแรกที่มีผลสืบเนื่องกับก้าวต่อไปจนถึงวันที่คุณก้าวเท้าเข้าไปอยู่ในบ้าน ผลงานของสถาปนิกคนนั้นจะมีผลกับไลฟ์สไตล์ของคุณไปอีกนานแสนนานจนคุณคาดไม่ถึง เพราะว่าการออกแบบบ้านนั้นคือการออกแบบชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่ชีวิตคุณคนเดียวแต่ยังรวมถึงครอบครัวและคนที่คุณรักอีกด้วย

……………
เรียบเรียงโดย
อ. วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
dp@dp-studio.com

tul

อาจารย์พรทิพย์ ทองขวัญใจ หรือที่ลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานกันอย่างสนิทสนมว่า ครูตุล เป็นสาวเก่งผู้มากด้วยความพรสวรรค์ด้านศิลปะ เป็นผู้กว้างขวางในแวดวงศิลปะ เธอจึงให้เกียรติมาเป็นนักเขียนกิตติมศักดิ์ของ LivingDD.com เพื่อนำเราไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เก๋ๆ ที่ชวนติดตาม

You may also like...