การเตรียมพื้นที่บ้านสำหรับสมาชิกรุ่นเยาว์นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่น เป็นงานที่ต้องวางแผนให้รอบคอบสำหรับบ้านยุคใหม่ที่มีพื้นที่จำกัด โดยเฉพาะบ้านจัดสรรที่มีการออกแบบไว้แล้วอย่างรัดกุม การทุบรื้อเพื่อต่อเติมหรือดัดแปลงนอกจากจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายยังอาจทำให้แบบบ้านดูไม่ลงตัว เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีพฤติกรรมการใช้พื้นที่แตกต่างกัน การทำห้องเด็กจึงต้องคิดเผื่ออนาคตเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของพวกเขา โดยแบ่งออกเป็น
วัยแรกเกิด (new born)
ช่วงแรกเกิดถึงหนึ่งเดือนแรก กุมารแพทย์จะแนะนำให้เด็กแรกเกิดนอนแยกเตียงกับพ่อแม่ เพราะการนอนบนเตียงเดียวผู้ใหญ่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงขึ้นกับทารกได้ เช่น การขาดอากาศหายใจ โรคไหลตายในทารก หรือ SIDS (Sudden Infants Death Syndrome) แต่เนื่องจากทารกแรกเกิด 3 เดือนแรก นอนหลับได้ไม่นาน ต้องกินนมแม่บ่อย ๆ การที่ลูกได้นอนห้องเดียวกับแม่แต่แยกนอนในเตียงเด็กจะสะดวกกว่า นอกจากมีเตียงเด็กแล้ว ควรมีพื้นที่วางของใช้สำหรับเด็กแรกเกิด พื้นที่ชงนม อยู่ในระยะที่สะดวกกับการใช้งาน มีแสงสว่างเพียงพอและปรับสลัวได้ อากาศถ่ายเทสะดวก พื้นผิวทำความสะอาดง่าย ไม่มีเสียงรบกวน เตียงเด็กควรเป็นเตียงที่เด็กจะใช้ต่อไปได้อย่างน้อย 3 ปี เตียงควรแข็งแรงพอที่แม่จะลงไปนอนกับลูกได้
วัยทารก (infant) 1-12 เดือน
ห้องเด็กควรอยู่ใกล้ห้องพ่อแม่ หรือโซนที่เข้ามาดูแลได้ง่าย เด็กวัยนี้มีพัฒนาการเร็วมาก ในวัย 4 เดือนเด็กจะเริ่มพลิกคว่ำได้ พอ 6 เดือนเริ่มนั่งได้ และเริ่มคลานได้ตอน 8 เดือน 9 เดือนเด็กจะเริ่มหยิบจับของชิ้นเล็กได้ เตียงเด็กที่มีคอกกั้นหรือ playpen จึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่กั้นด้านข้างมีทั้งแบบตาข่าย เป็นเบาะ ซี่กรงไม้ หรือ PVC ที่มีการบุให้นิ่มกันการกระแทก แบบตาข่ายมีข้อดีคือ พับเก็บได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่มักมีขนาดเล็กทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของเด็ก แบบผนังหรือเบาะที่มีความมั่นคงแข็งแรง เป็น playpen ที่มีขนาดใหญ่กว้างขวางจะทำให้เด็กเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แต่ใช้พื้นที่มาก ควรติดตั้ง baby monitor เอาไว้ดูลูก เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กปลอดภัยอยู่เสมอ บางชนิดจะมีสัญญาณเตือนเมื่อเด็กร้องหรือเคลื่อนไหว
เด็กวัยเตาะแตะ (toddler) 1-3 ปี
ห้องเด็กควรอยู่ใกล้ห้องพ่อแม่ หรือห้องนั่งเล่น เพื่อให้สามารถเข้ามาช่วยเหลือและดูแลเด็กได้ง่าย เตียงเด็กยังจำเป็นต้องใช้แบบมีคอกกั้นหรือราวกันตก ถ้าเลี้ยงเด็กในห้องนี้เป็นส่วนใหญ่ ห้องควรมีพื้นที่กว้างเหมาะสม เพื่อให้ไม่อึดอัดและสามารถจัดวางเฟอร์นิเจอร์เช่น เตียง เปล และชั้นวางของได้สะดวก ไม่คับแคบจนทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปแล้วดูแลลูกลำบาก สามารถจัดวางของต่างๆ ได้ในระยะห่างกันพอดี ไม่อยู่ใกล้จนลูกโตแล้วเอื้อมมาคว้าหยิบจับจนสิ่งต่างๆ หล่น โค่นล้มจนเป็นอันตราย มีแสงสว่างเพียงพอ ระบายอากาศได้ดี หากมีห้องน้ำในตัวด้วยก็จะสะดวกในการเข้าไปดูแล แต่ก็ต้องมีความปลอดภัยสำหรับเด็กที่เริ่มเดินได้ เช่น ไม่มีอ่างอาบน้ำที่เด็กอาจลงไปเปิดน้ำเล่นเวลาที่พ่อแม่เผลอ ในห้องต้องไม่มีปลั๊กไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นอันตราย พื้นห้องทำความสะอาดง่าย ไม่ลื่นเมื่อเปียก มีหน้าต่างให้เห็นวิวภายนอกได้ ถ้าพ่อแม่ทำงานที่บ้าน ห้องเด็กควรมีประตูปิดแยกเป็นสัดส่วนจากโซนทำงาน
เด็กก่อนวัยเรียน (Preschoolers) 3-5 ปี
เด็กวัยนี้อาจยังไม่ได้เรียนหนังสือจริงจัง แต่ก็จะออกไปโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก งานหลักของวัยนี้คือการเล่นซุกซน การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย มีทักษะทางด้านร่างกายเพิ่มมากขึ้น ใช้พื้นที่มากขึ้นกว่าวัยเตาะแตะ สามารถอยู่ตามลำพังได้บางช่วงและต้องการให้พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูแลบางช่วง เป็นวัยที่เริ่มหัดอ่านหนังสือ เล่นของเล่น มีกิจกรรมทางสังคม ออกไปข้างนอกเยอะขึ้น ห้องของเด็กจะถูกใช้สำหรับการพักผ่อน เก็บของใช้ส่วนตัว ทำกิจกรรมส่วนตัวเล็กๆน้อยๆ จึงควรมีพื้นที่สำหรับเก็บข้าวของต่างๆ เพื่อให้เขาฝึกบริหารจัดการชีวิตตัวเองได้ในระดับพื้นฐาน การตกแต่งควรคำนึงถึงความปลอดภัยจากการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วขึ้น การกระโดดโลดเต้น วัยนี้ไม่ต้องใช้เตียงมีคอกกั้น เริ่มใช้เฟอร์นิเจอร์สำหรับเด็ก เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีเหมาะกับร่างกายของเด็ก แต่ไม่ต้องลงทุนเยอะ เพราะเด็กๆจะโตรวดเร็ว ในห้องไม่ควรมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงโทรทัศน์ และแทบเล็ต
เด็กวัยเรียน (Middle Childhood) 5-12 ปี
เป็นช่วงสำคัญในการเรียนรู้ทักษะชีวิต สมองของเด็กพัฒนาอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อพัฒนาอย่างเต็มที่ หลังจากออกไปเรียนแล้วกลับมาบ้าน เด็กจะไม่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในห้อง ถ้าในบ้านมีพื้นที่ส่วนกลางให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงาน หรือพื้นที่ภายนอกให้ได้วิ่งเล่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ฝึกสร้างทักษะทางสังคม ห้องเด็กวัยนี้เริ่มต้องการความเป็นส่วนตัว มีการใช้สิ่งของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์ในสเกลเดียวกับผู้ใหญ่ มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับทำการบ้าน มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นสำหรับการเรียน แต่แยกพื้นที่ในการเล่นเกมหรือดูหนังฟังเพลงออกมาให้อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของครอบครัว เพื่อให้พ่อแม่สามารถควบคุมดูแลได้
เด็กวัยรุ่น (Adolescence) 12-18 ปี
พ่อแม่ที่เคยคิดว่าการมีห้องลูกอยู่ใกล้ห้องพ่อแม่เมื่อลูกยังเล็กอาจจะเปลี่ยนความคิดเมื่อลูกเป็นวัยรุ่น เด็กวัยนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์อย่างมาก มีความคิดเห็นเป็นของตนเองชัดเจน พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกตัดสินใจในการตกแต่งห้องเอง โดยสนับสนุนงบประมาณหรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่ลูกขอ มีพื้นที่ให้เขาได้ใช้เวลากับตัวเองและเพื่อนฝูงตามสมควรซึ่งอาจจะเป็นในห้องของเขา หรือในมุมใดมุมหนึ่งของบ้านที่มีความเป็นส่วนตัว การเตรียมพื้นที่สำหรับลูกวัยรุ่นไม่จำเป็นต้องไปวุ่นวายในห้องของเขา แต่เป็นการเตรียมพื้นที่ส่วนกลางในบ้านให้เขาออกมาใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ และทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สร้างสรรค์ได้อย่างมีความสุข ไม่เช่นนั้นเขาจะหมกตัวอยู่แต่ในห้องส่วนตัว
Preparing the home for young members from birth to adolescence is a task that requires careful planning for modern homes where space is limited. Especially housing estates that have been carefully designed, demolishing for space additions or modifications, in addition to causing expenses, may also cause the house design to look inconsistent. Because children of different ages have different behaviors in using the space. Making children’s rooms requires a good consideration about the future to accommodate their changes.
อ้างอิง
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/child-growth-and-development
https://www.facebook.com/bambinibabywellness/posts/879476906113431/