เมื่อพูดถึงการจัดสวนในบ้าน คนส่วนใหญ่มักคิดถึงสวนไม้ประดับที่จัดเพื่อความสวยงามเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด หากต้องเลือกระหว่างการจัดสวนเพื่อตกแต่งกับสวนครัว หลายคนอาจคิดว่า การทำสวนครัวนั้นเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สวยงามดูดี ถ้าอยากได้พืชผักมาทำอาหารก็แค่ไปซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตสะดวกสบาย จะมาเสียพื้นที่ทำสวนสวยๆและเสียแรงปลูกเองไปทำไม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สวนครัวสามารถจัดให้สวยงามได้ไม่แพ้สวนไม้ประดับ อีกทั้งยังมีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเงินในการซื้อหา ปลอดสารพิษ และยังเป็นงานอดิเรกที่สร้างสรรค์สำหรับสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย
การปลูกสวนครัวที่ต้องการประโยชน์ทั้งเพื่อการกินและตกแต่งพื้นที่ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็น เพียงแต่ต้องอาศัยการวางแผนที่ดีในขั้นตอนแรก โดยผสานความรู้ระหว่างการออกแบบภูมิทัศน์ภายนอก การจัดสวนประดับ เข้ากับความรู้พื้นฐานในการทำสวนครัว
เริ่มจากการวางแผนภูมิทัศน์ของพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ ดูทิศทางแดด ลม สภาพพื้นที่ ลักษณะดิน ความต้องการร่มเงา สไตล์สวนที่ชอบ แล้วมาประเมินความเป็นไปได้และกำหนดว่าเราควรวางผังบริเวณโดยรวมอย่างไร ควรปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะแบบไหนไว้ตรงตำแหน่งไหนบ้าง เช่น บ้านเดี่ยวที่มีบริเวณกว้างๆ อาจต้องการต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาในทิศที่แดดจัดช่วงบ่าย หรือบ้านบางหลังอาจต้องการไม้พุ่มตามแนวรั้วที่ทำหน้าที่เป็นฉากบังสายตาจากภายนอก
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นทั้งสถาปนิกและคนรักสวน ก็ขอให้ข้อเสนอแนะที่ต้องใส่ใจตามหลักการออกแบบ ถึงเหตุผลที่เราต้องคิดเรื่องภาพรวมของการออกแบบผังภูมิทัศน์ในการจัดสวนให้บ้าน ‘อยู่สบาย’ ก่อนที่จะมาคิดว่าจะปลูกอะไรที่เรา ‘ชอบกิน’ นั้น ก็เพราะเราคงไม่ได้ตั้งใจจะใช้พื้นที่ภายนอกบ้านทั้งหมดมาปลูกสวนผักขายแบบชาวสวนที่ทำเป็นอาชีพ เงื่อนไขในการออกแบบสวนของเราจึงแตกต่างกัน เพราะสวนผักที่เขาปลูกขายนั้น จะมีวิธีจัดการพื้นที่แตกต่างกับการจัดสวนในบ้าน เช่น สวนผักทั่วไปนั้นต้องการพื้นที่โล่งๆมีแสงแดดจัด ไม่เน้นสวย แต่สวนในบ้านเราอาจต้องการความร่มรื่น ร่มเงาที่ทำให้บ้านเย็น ช่วยลดความร้อน รวมถึงต้องการรูปแบบที่สวยงามเข้ากับบ้านและเป็นหน้าตาแบบที่เราชอบ ซึ่งเจ้าของบ้านต้องไม่เผลอลืมว่า เราอาจซื้อผักที่เราชอบแต่ปลูกเองไม่ได้มาจากตลาดได้ แต่เราไม่สามารถซื้อสวนที่สร้างความน่าอยู่ให้กับบ้านได้ จึงต้องคิดเรื่องสวนที่ทำให้บ้าน ‘อยู่สบาย’ เป็นสำคัญ
เมื่อคิดได้แล้วว่า ต้องการสวนที่มีหน้าตาแบบไหน ก็มาวางแผนกับสมาชิกในบ้านว่าเราจะปลูกต้นอะไรบ้าง และจะปลูกอย่างไรดี โดยพิจารณาจากห้าปัจจัยร่วมกัน
ปัจจัยแรกคือผังภูมิทัศน์ของบ้าน รูปแบบของสวนที่คิดเอาไว้แล้วข้างต้น ว่าตำแหน่งไหนควรปลูกไม้ยืนต้น ตำแหน่งไหนควรปลูกไม้พุ่มสูงพุ่มเตี้ย ตรงไหนเป็นไม้เลื้อย ไม้คลุมดิน ไม้น้ำ ไม้แขวน ตรงไหนอยากได้ไม้ดอกที่มีสีสันสวยงามมาเป็นจุดสนใจ หรืออยากได้กลิ่นหอม ฯลฯ
ปัจจัยที่สองคือคนในบ้านชอบกินพืชผักอะไรบ้าง เอารายการสารพัดพืชผักผลไม้ที่คนในบ้านช่วยกันคิดจากเมนูโปรดที่ทำบ่อยๆ มาเป็นเกณฑ์ว่าจะเลือกปลูกผักอะไรดีให้เหมาะกับผังภูมิทัศน์ของบ้าน
ปัจจัยที่สามคือลักษณะพืชพันธุ์ที่เราเลือก ว่าชนิดไหนมีรูปแบบในการปลูกอย่างไร ชอบสภาพอากาศหรือสภาพดินแบบไหน มีวงจรชีวิตสั้นยาวเท่าไร มี วิธีในการดูแลอย่างไร เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลก็ควรเลือกชนิดที่เหมาะกับสภาพของพื้นที่บ้านเราให้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องเปลืองเงิน เปลืองแรง เปลืองเวลาไปกับการดูแลรักษามากจนเกินไป เพราะถ้าเราเลือกพืชผักที่ขึ้นได้ดีในสภาพพื้นที่บ้านเรา แค่ปลูกทิ้งๆขว้างๆไม่ต้องใส่ใจมากก็งอกงามออกผลผลิตมาให้กินเอง ไม่ต้องเหนื่อยเลย นอกจากนี้พืชผักสวนครัวส่วนมากมักเป็นไม้ล้มลุกหรือเป็นพืชที่มีอายุสั้น การทำความเข้าใจในช่วงเวลาที่พืชจะมีการเปลี่ยนสภาพไปตามอายุขัย รอบของการปลูกทดแทน ก็จะทำให้มีผักกินตลอดและสวนก็ยังสวยได้ตลอด
ปัจจัยที่สี่คือความสามารถในการดูแลสวนของสมาชิกในบ้าน อันนี้สำคัญมากที่สุด เพราะถ้าปลูกต้นไม้แล้วไม่มีเวลาดูแลก็จะไม่ได้สวนดีๆอย่างที่ฝันไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการมีสวนครัวจะเป็นภาระหนักถึงขนาดที่คุณจะต้องรีบกลับจากที่ทำงานมารดน้ำ พรวนดิน ใสปุ๋ย หรือลาพักร้อนมาเพื่อดูแลสวนโดยเฉพาะ คือถ้าตั้งใจจะมีสวนจริงก็แค่วางแผนให้รอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ สร้างสมดุลกับไลฟ์สไตล์ทั้งวันทำงานและวันหยุดพักผ่อน เช่น ถ้าคุณไม่มีเวลากลับมารดน้ำต้นไม้ตอนเย็น ก็อาจติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติที่ตั้งเวลาทำงานเอาไว้มาทำหน้าที่แทนก็ย่อมได้
ปัจจัยที่ห้าคือฤดูกาล การทำสวนเพื่อเป็นแหล่งอาหารหรือสมุนไพรต้องคิดถึงเรื่องของฤดูกาลเป็นสำคัญ พืชผักแต่ละชนิดจะให้ผลผลิตแตกต่างกันในแต่ละฤดูกาล การวางแผนว่าจะปลูกอะไรช่วงไหนให้ได้ผลผลิตดี ต้องทำควบคู่ไปกับการวางแผนเมนูอาหารการกินของครอบครัว และถ้าจะให้ดีควรคิดเผื่อไปถึงการแปรรูปผลผลิตและการถนอมอาหารด้วย ก็จะทำให้คุณได้ประโยชน์สูงสุดจากสวนครัวทั้งในเรื่องกินและความสมบูรณ์สวยงาม เพราะพืชบางชนิดอาจให้ผลผลิตจำนวนมากเมื่อโตเต็มที่ในฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่ง ซึ่งเจ้าของสวนควรเก็บเกี่ยวทั้งหมดและรื้อต้นเก่าทิ้งปลูกใหม่หลังเก็บเกี่ยว ดีกว่าเก็บกินทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆแล้วปล่อยให้ต้นโทรม ทำให้ภาพรวมของสวนดูไม่สวยงาม ส่งผลให้บรรยากาศของบ้านดูทรุดโทรมไปด้วย ผลผลิตที่เหลือกินก็นำมาแปรรูปหรือถนอมอาหารไว้กินนอกฤดูกาล ช่วยประหยัดเงินได้อีก เรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่คนทำสวนครัวทั่วไปมองข้าม ทำให้ภาพสวนครัวตามบ้านในความคิดของหลายคนเป็นภาพที่ไม่จำเริญตานัก ทั้งที่เราสามารถทำสวนครัวให้เป็นสวนประดับได้ไม่ยาก
เมื่อผ่านการพิจารณาปัจจัยสำคัญทั้งห้าประการมาอย่างรอบคอบแล้ว คุณก็จะได้ภาพคร่าวๆของสวนครัวในฝันออกมาเป็นแนวทาง เช่น ผังภูมิทัศน์ที่คุณวางไว้กำหนดว่า คุณต้องการไม้เลื้อยมาปลูกบังแดดที่เฉลียงหน้าบ้านในทิศตะวันตกเฉียงใต้ คุณดูเมนูอาหารโปรดของครอบครัวแล้ว คิดว่าตัวเลือกไม้เลื้อยที่อยากจะปลูกไว้กินคือตำลึง กับชะพลู แต่ตำลึงน่าจะทนแดดมากกว่า คุณก็อาจจะเลือกปลูกตำลึง แต่ถ้าคุณต้องการไม้ดอกสีสวยที่กินได้และเป็นไม้เลื้อยบังแดดได้ คุณก็อาจจะเลือกปลูกอัญชัน หรือถ้าพิจารณาฤดูกาลแล้ว คุณอาจจะเลือกปลูกแตง ถั่วฝักยาว หรือฟักข้าว ซึ่งเป็นไม้เลื้อยเช่นเดียวกันมาสลับได้เป็นบางช่วง ทำให้สวนของคุณมีความหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ และมีอาหารการกินที่หลากหลายหมุนเวียนไปตามฤดูกาลอีกด้วย
การทำสวนครัวในบ้านให้สวยงามและมีผลผลิตมากินได้จริงๆไม่ใช่เรื่องยาก ลองเปิดใจและเริ่มต้นเรียนรู้ แล้วคุณจะพบกับความสนุกใหม่ๆในการจัดสวน ที่ได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวคุณเองและคนที่คุณรัก