Minimal Garden

pocket-garden-06

เพราะความชอบของคนเรานั้นแตกต่างกัน สิ่งที่คนหนึ่งชอบอาจจะเป็นสิ่งที่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ โดยเฉพาะในเรื่องของรสนิยมทางศิลปะ ที่ไม่ได้เอาเรื่องของเหตุผล หรือถูกผิดมาตัดสิน และความชอบในเรื่องของการจดสวนในบ้าน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนรสนิยม ตัวตน และความคิดของผู้เป็นเจ้าของออกมาได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่บางคนเห็นว่า สวนที่ดีน่าจะหมายถึงสวนที่มีต้นไม้แน่นขนัด เขี้ยวครึ้ม ร่มรื่น แต่บางคนกลับชอบสวนที่มีองค์ประกอบเพียงน้อยชิ้น โดยแทนที่จะกำหนดนิยามความสวยงามขึ้นจากความร่มรื่นหรือความหนาแน่นอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้นานาชนิดและวัสดุตกแต่งต่างๆในสวน ความงามของสวนในอีกรูปแบบหนึ่งกลับเกิดขึ้นจากความโปร่งโล่ง และเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดปลีกย่อยจุกจิกลงจนเหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ซึ่งนอกจากจะปรากฏเป็นความงามตามแนวทางแบบ Minimalist แล้ว ยังมีข้อดีแถมมาอีกประการ ก็คือความสะดวกสบายในการดูแลรักษา และงบประมาณที่ไม่สูงเกินไปทั้งในเบื้องต้นและในระยะยาว

 

ดังที่เรารู้กันว่า ค่าใช้จ่ายของการมีสวนสวยๆอยู่ในบ้านนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดต่อเนื่องไปอย่างไม่สิ้นสุด อย่างน้อยก็ค่าปุ๋ย ค่าน้ำสำหรับรดต้นไม้ ยังไม่รวมค่าตัดหญ้า ค่าตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ และค่าบำรุงรักษาในกรณีที่เป็นสวนขนาดใหญ่เกินความสามารถในการดูแลของเจ้าบ้าน แต่หากเจ้าของบ้านมีความชอบในสวนแบบ minimal ภาระการดูแลในระยะยาวก็จะน้อยตามไปด้วย เพราะหลักการขั้นพื้นฐานของการจัดสวนลักษณะนี้ คือการสรรหาองค์ประกอบที่เข้ากันได้อย่างลงตัวมาจัดวางเข้าด้วยกันในจำนวนน้อยชิ้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้หลัก ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน วัสดุปูพื้น และอุปกรณ์ประดับสวน แต่ทั้งนี้อย่าเข้าใจผิดคิดว่า สวนแบบ minimal จะหมายถึงสวนที่จัดในพื้นที่เล็กๆ เท่านั้น เพราะความจริงแล้วก็มีการใช้รูปแบบนี้กับพื้นที่ขนาดใหญ่และออกมาดูดีเช่นกัน ตัวอย่างที่พูดแล้วทุกคนจะต้อวงร้องอ๋อ…ก็คือการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น รวมถึงการจัดสวนหินในรูปแบบต่างๆนั่นเอง

 

สำหรับการจัดสวนสไตล์ minimal ในบ้านเราที่เป็นเมืองร้อน ควรเริ่มต้นที่การกำหนดต้นไม้หลักหรือไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงาก่อนจะเป็นการดี เพราะเราจะเน้นปลูกต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น ดังนั้นการกำหนดตำแหน่ง ขนาด และที่ตั้งของไม้หลักที่ให้ร่มเงาจะมีผลต่ออุณหภูมิของบ้าน และมีผลต่อรูปแบบการใช้พื้นที่ในสวนเป็นอย่างมาก หากไม่วางรูปแบบไม้หลักให้ดี อาจได้สวนที่ร้อนและแห้งแล้ง จนแทบไม่อยากออกมายืนนอกบ้านเลยก็เป็นได้

การวางผังควรคำนึงถึงสมดุลระหว่างพื้นที่ hard scape และ soft scape เพื่อไม่ให้เกิดความแข็งกระด้างจนเกินไปเพราะใช้ต้นไม้ไม่มาก โดยมากนิยมใช้ผังที่มีส่วนประกอบของรูปทรงเรขาคณิต แต่หากใครชอบรูปทรงอิสระหรือ free form ก็สามารถทำได้  โดยมักใช้องค์ประกอบที่มีการแปรเปลี่ยนช้าๆ เช่น หิน ทราย หรือ ไม้ และถ้าเป็นการปลูกต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นไม้พุ่ม หรือไม้คลุมดิน ก็จะเลือกแบบที่ไม่โตเร็วหรือแผ่กิ่งก้านสาขาเร็วจนเกินไปนัก แม้แต่การปลูกหญ้าในสวนประเภทนี้ก็มักเลือกหญ้าที่มีใบสั้น เพื่อไม่ให้เกิดความรกรุงรัง

การใช้น้ำเข้ามาเป็นองค์ประกอบในสวนสไตล์ minimal จะพบไม่มากนัก สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะการออกแบบให้มีน้ำในสวน หมายถึงการวางระบบน้ำ การเดินท่อ และการระบายน้ำ ที่ค่อนข้างจะยุ่งยากซับซ้อน

 

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนคิดไม่ถึงว่าเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในการจัดสวนสไตล์ minimal นั่นก็คือสีสันขององค์ประกอบทุกส่วนภายในสวน จะไม่นิยมสีสันแพรวพรายฉูดฉาดตัดกัน แต่จะเน้นสีที่อยู่โทนเดียวกัน หริอตัดกันน้อยๆได้อย่างเก๋ไก๋ ทั้งในส่วนของสีและผิวสัมผัส ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นการใช้ไม้ดอกมากนักในสวนประเภทนี้ แต่จะเน้นไม้ที่มีความเขียวตลอดปี หรือไม้ใบเสียเป็นส่วนใหญ่

สิ่งที่ห้ามลืมพิจารณาอย่างเด็ดขาดในการจัดสวน คือความเข้ากันได้กับตัวบ้าน ทั้งรูปทรงอาคาร สีสัน ผิวสัมผัส เพราะสวนสไตล์ minimal นั้นจะมีรูปทรงที่โดดเด่นในตัวเองอย่างเป็นศิลปะ หากไปกันไม่ได้กับหน้าตาของบ้านก็จะดูขัดแย้งตัดกันอย่างรุนแรง ทำให้ดูไม่สวยงาม แต่อย่างไรก็ดี สวนก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ลดได้ เพิ่มได้ หากในการจัดครั้งแรกๆยังไม่ถูกใจที่สุดก็ค่อยๆปรับแต่งจัดใหม่ จนกว่าจะถูกใจ ซึ่งโดยมากแล้ว วิถีทางที่มักทำให้สวนออกมามีลักษณะเป็น minimal จริงๆ ก็คือความกล้าที่จะตัด กล้าลดทอนรายละเอียดที่ลดทอนได้ออกไปให้หมด ซึ่งความกล้าที่สะท้อนออกมาในสไตล์ของการจัดสวนนี้เอง ที่จะสะท้อนตัวตนที่เฉียบขาดและเก๋ไก๋ของเจ้าบ้านให้ปรากฏออกมาได้อย่างน่าดูชม

Buttercup Garden

Buttercup Garden เป็นนามปากกาของนักออกแบบจากรั้วจามจุรี ที่หลงรักช่วงเวลาดีๆในสวน และมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และไอเดียเกี่ยวกับสวน เพื่่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ปรารถนาความรื่นรมย์ในโลกสีเขียว และการจัดสวนสวยในบ้านด้วยตัวเอง

You may also like...