สวนครัวแสนสะดวก

FB_IMG_1583564888307

ยุคนี้เป็นยุคที่คนทั่วโลกหันมาใส่ใจในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจและการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง จนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในหลายด้าน รวมถึงเรื่องอาหารการกิน ที่เน้นความปลอดภัย และความประหยัด ทำให้การปลูกผักสวนครัวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ การมีสวนครัวในบ้านนั้นไม่จำเป็นว่าต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่หรือต้องปลูกพืชลงดินเท่านั้น การเพาะปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก หรือในกระถางก็สามารถตอบโจทย์ของคนที่อยากปลูกผักไว้กินเองได้ไม่ยาก rhdr สมุนไพรเครื่องเทศคู่ครัวไทย –คนไทยเรากินอาหารไทยกันเป็นส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวัน การมีกลุ่มพืชสมุนไพรเครื่องเทศ ได้แก่ พริก มะกรูด กะเพรา โหระพา สะระแหน่ ผักชี ยี่หร่า ตะไคร้ มะกรูด ขิง ข่า กระชาย ติดบ้านไว้ ทำให้คุณประหยัดทั้งค่ากับข้าวและค่าเดินทางได้ดี คุณสามารถปลูกได้ในกระถางสวยๆริมระเบียง หรือริมหน้าต่างในครัว ถ้ามีพื้นที่พอ และวางให้ได้รับแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน บางอย่างสามารถปลูกเองได้ไม่ยากด้วยการปักชำ เช่น สะระแหน่ กะเพรา โหระพา ตะไคร้ หรือถ้าเป็นพืชหัว อย่าง ขิง ข่า กระชาย แค่เอาหัวที่มีหน่อฝังลงในดินรดน้ำไม่นานรอให้แตกหัวเพิ่มก็ขุดมากินได้ ส่วนบางชนิดต้องเพาะจากเมล็ด เช่น พริก ผักชีลาว ยี่หร่า แต่ถ้าเป็นพวกไม้ยืนต้นอย่างมะกรูด หรือแม้แต่มะนาว แนะนำว่าให้ไปหาซื้อกิ่งพันธุ์หรือต้นพันธุ์ขนาดย่อมที่เขาปลูกไว้แล้วมาลงกระถางสวยๆ จะสะดวกกว่า FB_IMG_1583565350893 ปลูกผักด้วยของเหลือจากครัว – บ่อยครั้งผักที่เราซื้อมาทำอาหารมีส่วนเหลือใช้เพราะต้องซื้อมาเผื่อเยอะ หรือหั่นบางส่วนทิ้ง เราสามารถแบ่งส่วนที่เหลือกินมาเพาะปลูกได้ เช่น หัวหอมแดง สามารถเอามาเพาะเป็นต้นหอมได้  หรือบางครั้งส่วนของผักที่เราตัดทิ้งสามารถนำมาปลูกให้ขึ้นเป็นต้นใหม่ได้ เช่น โคนผัก ที่มีรากติด เช่น ผักบุ้ง ส่วนโคนผักกาด ขึ้นฉ่าย กวางตุ้ง ฯลฯ โดยเริ่มจากการนำชิ้นส่วนโคนที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้เหล่านี้ ไปแช่น้ำจนมีใบอ่อนงอกขึ้นมาใหม่และมีราก แล้วจึงนำไปปลูกต่อในกระถางที่เตรียมดินไว้ sprout2 ต้นอ่อนผักเพื่อสุขภาพ และ ผักสลัด – ผักเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องปลูกนานๆ จนเติบโตเป็นต้นเต็มวัย แค่เพาะเมล็ดให้มีรากงอกในน้ำหรือวัสดุปลูกชื้นๆ แล้วเลี้ยงให้โตขนาดเป็นต้นอ่อนนำมาเด็ดกินเป็นผักสลัด เช่น ถั่วงอก เมล็ดทานตะวัน ส่วนผักสลัดนั้น เมื่อเพาะเมล็ดให้งอกและมีรากแล้วต้องนำลงปลูกในดินหรือปลูกในน้ำก็ได้ แต่รสชาติของผักสลัดมักจะเข้าที่เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยว ไม่เหมือนการเพาะต้นอ่อนที่พองอกเป็นต้นแล้วก็มีรสหวาน เก็บมากินได้เลย นอกจากนี้ เรายังสามารถนำเมล็ดข้าวมาเพาะให้รากงอก เพื่อนำไปปลูกจนเป็นต้นข้าวอ่อน นำมาปั่นเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้ 02 วางแผนระยะปลูก ในการปลูกผักกินใบ ให้พอดีกับการบริโภค – ผักอย่างคะน้า กวางตุ้ง ผักกาด ปวยเล้ง คือกลุ่มผักกินใบ ที่เป็นไม้ล้มลุก มีระยะเวลาในการปลูกและการเก็บเกี่ยวเป็นรอบๆ คนที่มีแปลงปลูกบนดินสามารถวางแผนปริมาณและระยะเวลาในการเพาะปลูกให้ลงตัวกับรอบของการบริโภค เพื่อที่จะได้มีต้นใหม่มาให้เก็บกินได้เรื่อยๆ เพียงพอกับความต้องการทำอาหาร ไม่ควรปลูกทีเดียวครั้งละเยอะๆ เพราะจะเก็บกินไม่ทัน ควรวางแผนปลูกให้มีผักหมุนเวียนต่างชนิดสามารถเก็บกินได้ทุกวัน โดยกะปริมาณเก็บผลผลิตครั้งละ 500 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม มีต้นพืชที่อายุต่างกัน เมื่อต้นเก่าโทรมต้องปลูกใหม่ ก็จะมีต้นที่อายุถัดไปโตทันกิน และทำให้พื้นที่สวนมีผักที่ดูสวยงามตลอดเวลา เพราะสวนนี้ไม่ได้มีไว้แค่กินแต่ยังเป็นสวนประดับได้ด้วย

IMG_20200306_224615

ผักที่ได้ชื่อว่าปลูกยาก แต่อยากมี – หลายคนเชื่อว่า ผักราคาแพงอย่างผักชี ผักชีฝรั่ง หรือ ขึ้นฉ่าย เป็นพืชที่ปลูกยากในสวนครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง ปัญหาที่ว่ายากส่วนมากเป็นขั้นตอนของการเพาะเมล็ดที่มีเทคนิคแตกต่างกัน อย่างเช่น เมล็ดผักชีมีเปลือกแข็ง ต้องบดหรือกะเทาะให้แตกก่อนนำไปแช่น้ำให้งอก การเพาะผักชีฝรั่งหรือผักชีใบเลื่อยต้องนำมาแช่น้ำอุ่นก่อนประมาณ 3 ชั่วโมงจึงจะนำไปเพาะลงดิน ส่วนการปลูกขึ้นฉ่ายด้วยเมล็ดนั้น ต้องเอาเมล็ดไปแช่น้ำให้จม ห่อทิชชูใส่กล่องแช่ตู้เย็นก่อน 1 คืนจึงจะนำมาเพาะในดินได้

FB_IMG_1583565027168

ปริมาณน้ำและแสงแดด – ผักสวนครัวเกือบทุกชนิดต้องการแดดเต็มที่ หรืออย่างน้อยประมาณครึ่งวัน จึงต้องปลูกในบริเวณที่แสงแดดส่องถึง ไม่อับทึบ ส่วนปริมาณน้ำควรให้อย่างเพียงพอ และผสมสารอาหารสำหรับพืชลงไปด้วยหากเราปลูกในพื้นที่เล็กๆ มีดินน้อย ป้องกันธาตุอาหารไม่พอ สำหรับผักกินใบที่ได้รับน้ำไม่พอนอกจากจะเติบโตไม่ได้ดีแล้ว ยังอาจมีรสขม

mint

การเลือกภาชนะปลูก – หากเลือกที่จะปลูกผักในกระถางแทนการลงดิน ต้องเลือกขนาดของภาชนะปลูกให้เหมาะกับระบบรากของพืชแต่ละชนิด โดยพิจารณาในส่วนความลึก ส่วนความใหญ่ของกระถางไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นมากนัก เพราะเราสามารถปรุงดินให้มีสารอาหารเต็มที่เพียงพอได้ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ละลายช้า หรือปุ๋ยน้ำแบบรดและฉีดพ่นทางใบ ในปริมาณที่พืชต้องการ ทำให้ผักของเราเติบโตงอกงามได้โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก

cup-leaf-spring-leaves

ปุ๋ยที่เลือกใช้ – การปลูกสวนครัวกระถางไว้ใกล้ตัวหรือใกล้มือควรเลี่ยงการใช้ปุ๋ยคอก หรือวัสดุปลูกที่มีกลิ่น หรือมีความเสี่ยงจากเชื้อโรคและแมลงที่อาจติดเข้ามารบกวนคนในบ้าน โดยเปลี่ยนมาเลือกใช้ปุ๋ยเม็ดแบบละลายช้า หรือปุ๋ยน้ำสำหรับฉีดพ่นทางใบ

qrf

จัดพื้นที่สวนอย่างไรให้สวยงาม – สำหรับการปลูกพืชที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นสวนครัวและเป็นสวนประดับ นอกเหนือจากการเลือกภาชนะปลูกหรือกระถางที่มีความสวยงาม ควรเลือกจัดวางตำแหน่งของการปลูกให้ฟอร์มของต้นและใบของพืชแต่ละชนิดมีความเข้ากันลงตัว ด้วยขนาดและความสูงที่ลดหลั่นกัน สีสันที่แตกต่างกัน และเนื่องจากผักสวนครัวหลายชนิดเป็นไม้ล้มลุก ก็ต้องมีความเข้าใจในวงจรชีวิตของพืชแต่ละชนิดว่า ช่วงใดควรตัดแต่ง หรือรื้อปลูกใหม่ รวมถึงมีพื้นที่สำหรับอนุบาลต้นอ่อนเพื่อนำมาเปลี่ยนเมื่อต้นเก่าโทรมหรือหมดอายุ

011

สวนปลอดภัย – เนื่องจากสวนของเรานั้นปลูกเพื่อกิน แม้จะต้องการความสวยงาม แต่ก็ควรงดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเด็ดขาด รวมถึงเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี หากมีปัญหาแมลงศัตรูพืชที่ทำให้สวนของเราดูไม่งาม ควรพิจารณาเลือกใช้การกำจัดศัตรูพืชด้วยสารชีวภาพที่ไม่มีพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่นและสิ่งแวดล้อม

pexels-photo-3067707

ในช่วงของการเริ่มต้น สำหรับมือใหม่หัดปลูก สวนครัวของเราอาจไม่สะดวกง่ายดายทันทีเหมือนชื่อเรื่อง แต่เมื่อลองผิดลองถูกและปรับเปลี่ยนหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดได้แล้ว เราก็จะมีความสุขและแสนสะดวกสบายกับสวนสวยกินได้ของเราอย่างเต็มที่ นอกจากจะช่วยให้เรามีสุขภาพดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารการกินแล้ว ยังเป็นสวนสวยเก๋ ดูแล้วสบายตาสบายใจ และเปี่ยมด้วยความภูมิใจอีกด้วย

 

ขอขอบคุณภาพประกอบ จาก คุณวรานนท์ สุทธินนท์

Buttercup Garden

Buttercup Garden เป็นนามปากกาของนักออกแบบจากรั้วจามจุรี ที่หลงรักช่วงเวลาดีๆในสวน และมีความสุขกับการถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และไอเดียเกี่ยวกับสวน เพื่่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ปรารถนาความรื่นรมย์ในโลกสีเขียว และการจัดสวนสวยในบ้านด้วยตัวเอง

You may also like...